กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--กรมพัฒนาที่ดิน
กรมพัฒนาที่ดิน เปิดโครงการรณรงค์ไถกลบตอซังและพืชปุ๋ยสดบำรุงดินเพื่อลดภาวะโลกร้อน เป็นการปรับเปลี่ยนความคิดจากการเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยว มาเป็นการไถกลบตอซังและพืชปุ๋ยสดแทนการทำนาปรัง เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินเพิ่มธาตุอาหารในดิน ณ บ้านไดปลาดุก ม.2 ต.วังสำโรง อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร
วันนี้ (19 พ.ย.) นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดงานโครงการรณรงค์ไถกลบตอซังและพืชปุ๋ยสดบำรุงดินเพื่อลดภาวะโลกร้อน ณ บ้านไดปลาดุก ม.2 ต.วังสำโรง อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ว่า สำหรับการจัดกิจกรรมในวันนี้ เป็นการส่งเสริมการไถกลบตอซังและพืชปุ๋ยสดบำรุงดิน เพื่อเป็นการลดภาวะโลกกร้อน ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนความคิดจากการเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยว มาเป็นการไถกลบตอซังและพืชปุ๋ยสดแทนการทำนาปรัง เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินเพิ่มธาตุอาหารในดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นส่วนขยายผล ตามโครงการปลูกพืชปุ๋ยสดในฤดูนาปรัง เพื่อลดพื้นที่การทำนาซ้ำซ้อนต่อปี และยังเป็นการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนการผลิตและตลาดข้าวครบวงจร ลดผลกระทบของราคาข้าวตกต่ำ อีกทั้งการปลูกพืชปุ๋ยสดยังเป็นการสร้างปุ๋ยและเป็นการปรับโครงสร้างดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ลดต้นทุนการผลิตในด้านการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดวัชพืช และการตัดวงจรวัชพืชไปในทางหนึ่งด้วย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของพี่น้องเกษตรกรที่ดีและปลอดภัย อีกทั้งเป็นการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
"เกษตรกรควรงดเผาตอซัง ฟางข้าว เศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา แล้วใช้วิธีไถกลบร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพ สารเร่งซุปเปอร์ พด.๒ และปลูกพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ เพื่อการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ กล่าวได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน นอกจากการใช้ประโยชน์จากตอซังฟางข้าวเพื่อการไถกลบลงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยคลุมดินรักษาความชุ่มชื้นของดินไว้ได้อย่างดี ทั้งนี้ถ้าหากเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจ วิธีการไถกลบตอซังฟาง ร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพิ่มปริมาณผลผลิตให้มีคุณภาพ โดยมีต้นทุนต่ำ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินใกล้บ้าน หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน " นายสุรเดช กล่าว
การไถกลบต่อซังและพืชปุ๋ยสดลงดิน จะทำให้วัสดุต่างๆ ย่อยสลายกลายเป็นอินทรีย์วัตถุช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินโดยตรง ถึงแม้ปริมาณธาตุอาหารจะไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี แต่จะมีธาตุอาหารครบถ้วนตามที่พืชต้องการทั้งธาตุอาหารหลัก อย่างเช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ธาตุอาหารรอง อย่างเช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน และจุลธาตุ อย่างเหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โบรอน โมลิบดินัม และคลอรีน และจะค่อยๆปลดปล่อยให้เป็นประโยชน์ต่อพืชในระยะยาว สำหรับวิธีการไถกลบตอซังข้าว ในเขตพื้นที่ชลประทานซึ่งสามารถปลูกข้าวได้ต่อเนื่อง 2-3 ครั้งต่อปี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วไม่ต้องเผาตอซังและฟางข้าว ให้ทำการไถกลบตอซังและฟางข้าวร่วมกับการปล่อยน้ำเข้านา โดยให้ระดับน้ำพอท่วมวัสดุ หลังจากนั้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำอัตรา 5 ลิตรต่อไร่ เจือจางกับน้ำ 100 ลิตร คิดเป็นอัตราส่วน 1 : 20 ราดลงในแปลงข้าวเพื่อช่วยให้ตอซังข้าวย่อยสลายได้ง่าย หมักไว้นานประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจึงทำเทือกเพื่อเตรียมเพาะปลูกข้าวครั้งใหม่ต่อไป หรือสามารถปลูกพืชไร่เศรษฐกิจชนิดอื่นได้ เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด ข้างฟ่าง ฯลฯ ส่วน พื้นที่เขตเกษตรน้ำฝน ในกรณีที่เกษตรกรมีการปลูกข้าวเป็นพืชหลักเพียงอย่างเดียวตลอดฤดูเพาะปลูกโดยอาศัยน้ำฝน หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวให้ทิ้งฟางข้าวและตอซังไว้ในพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อเป็นการคลุมผิวหน้าดิน จากนั้นเมื่อเข้าสู่ต้นฤดูฝนประมาณปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม ให้ทำการเตรียมดินพร้อมกับการไถกลบตอซังและฟางข้าว แล้วปฏิบัติเช่นเดียวกับในเขตชลประทาน โดยทำการปล่อยน้ำเข้านาให้ระดับน้ำท่วมวัสดุที่ไถกลบ หลังจากนั้นใส่น้ำหมักชีวภาพพด. 2 ในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้อัตรา 5 ลิตร โดยให้เจือจางกับน้ำ 100 ลิตร ก่อนราดลงในแปลงนาข้าว หมักทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ตอซังข้าวเกิดการย่อยสลาย แล้วจึงทำเทือกเตรียมแปลงพร้อมที่จะปลูกข้าวต่อไป