กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิด 5 งานวิจัยที่ยังเป็นที่ต้องการของประเทศ ด้านเทคโนโลยีเกษตร และความมั่นคง ติดอันดับ
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิด 3 โปรเจกต์งานวิจัย ปี 2561 มุ่งเน้นประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมเทคโนโลยี เสริมความแข็งแกร่งของประเทศใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การเกษตร ผ่านการพัฒนานวัตกรรมเพื่อประชาชน ที่ชาวบ้านและเกษตรกรทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถดึงศักยภาพของปัจจัยแวดล้อมออกมาให้เป็นประโยชน์สูงสุด 2) บิ๊กดาต้า พัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ประเทศไทยเท่าทันกระแส บิ๊กดาต้า (Big Data) และคลาวด์ (Cloud) สามารถประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม 3) ผู้ประกอบการโอทอปและเอสเอ็มอี ยกระดับสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อย ให้มีคุณภาพสากล พร้อมตีตลาดภายในประเทศ และต่อยอดส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ได้เปิดรายชื่อ 5 กลุ่มงานวิจัยที่ประเทศต้องการ ได้แก่ 1) ด้านเกษตร 2) ด้านความมั่นคง 3) ด้านเทคโนโลยี 4) ด้านพลังงาน และ 5) ด้านท่องเที่ยว
รศ.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เปิดเผยว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการสำรวจ ศึกษาถึงอุปสรรค ปัจจัยต่างๆ ของประเทศไทยที่ยังมีช่องว่าง และโอกาสของการประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์มาบูรณาการในการพัฒนา จนเป็นที่มาของการริเริ่ม 3 เมกะโปรเจกต์งานวิจัยประจำปี 2561 ดังนี้
SCI for AGRICULTURE: วิทยาศาสตร์เพื่อการเกษตร ต่อยอดศักยภาพด้านการเกษตรของประเทศไทย ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สู่การพัฒนากระบวนการทำการเกษตรของชาวบ้าน เกษตรกรที่มีโจทย์สำคัญในการทำงานคือ ต้องเป็น "การพัฒนานวัตกรรมเพื่อประชาชน" ที่ชาวบ้านและเกษตรกรทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถดึงศักยภาพของปัจจัยแวดล้อมออกมาให้เป็นประโยชน์สูงสุด โดยจะเป็นการพัฒนาแบบครบวงจร นับตั้งแต่พัฒนาการเพาะปลูก พัฒนาคุณภาพผลผลิต ยกระดับแพ็คเกจจิ้ง รวมไปถึงการต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ในปี 2561 จะเป็นการนำร่องด้วย 2 โครงการหลัก คือ "โครงการกล้วยหอมทองปทุมธานี" การพัฒนา "กล้วยหอมทองจังหวัดปทุมฯ" พืชเศรษฐกิจประจำท้องถิ่นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และ "โมเดลสมาร์ทฟาร์มเมอร์ วิถีเกษตรอินทรีย์ 4.0" โมเดลส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานและใช้ต้นทุนต่ำลงถึง 2 เท่า
SCI for BIG DATA: วิทยาศาสตร์เพื่อการจัดการข้อมูล การพัฒนางานวิจัย เพื่อให้ประเทศไทยเท่าทันกระแส
เมกะเทรนด์เทคโนโลยีของโลกในเรื่อง บิ๊กดาต้า (Big Data) และคลาวด์ (Cloud) และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม เน้นการจัดการข้อมูลบิ๊กดาต้าหรือเซ็ตข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์ และประมวลผลออกมาเป็นข้อมูล เพื่อใช้พัฒนาเป็นประโยชน์ ตลอดจนเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นหรือคาดการณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบด้วย 2 โครงการหลัก คือ "เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อความมั่นคง" การจัดการข้อมูลบิ๊กดาต้า มาวิเคราะห์ และประเมินถึงเหตุการณ์ที่อาจจะ เกิดขึ้นในอนาคต และกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ "ระบบวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ" การจัดการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และประมวลผลในด้านต่างๆ เช่น การสำรวจพฤติกรรมการเลือกเสพสื่อของผู้บริโภค การเก็บสถิติการใช้สิทธิประกันสังคมของประชาชน เพื่อสำรวจสิทธิการเข้าถึงการรักษาในแต่ละพื้นที่ ฯลฯ
SCI for OTOP/SMEs: วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอปและเอสเอ็มอี ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับสินค้าของผู้ประกอบการท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อย ที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสากล พร้อมตีตลาดภายในประเทศ และต่อยอดส่งออกไปยังต่างประเทศ ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้วิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา สู่บริการให้คำปรึกษา และร่วมพัฒนา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ 2 โครงการหลัก ดังนี้ "ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมความอร่อย" บริการวิจัยและพัฒนารสชาติ คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม โดยนักชิมที่มีความเชี่ยวชาญทางการทดสอบ และประเมินคุณภาพด้วยวิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ "ศูนย์พัฒนาบรรจุภัณฑ์โอทอปและเอสเอ็มอี ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" โครงการศูนย์บริการให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น และผู้ประกอบการ รายย่อย ในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทันสมัยต่างๆ เพื่อยกระดับและสินค้า อาทิ การพัฒนาวัสดุเพื่อผลิตแพ็คเกจจิ้งที่สามารถดึงศักยภาพของสินค้าออกมาได้มากที่สุด
นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้ทำการสำรวจกลุ่มงานวิจัยที่ประเทศต้องการ ดังนี้
1. ด้านเกษตร การพัฒนาระบบหรือนวัตกรรมรองรับภาคการเกษตร อาทิ ระบบควบคุม-สั่งการระยะไกลด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (iOT)
2. ด้านความมั่นคง การพัฒนานวัตกรรมทางทหาร เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศในงบประมาณสูง อาทิ เซนเซอร์ตรวจจับวัตถุระเบิดต้องสงสัย ตลอดจนนวัตกรรมเช็คความเครียดนายทหาร ที่ปัจจุบันมีอัตราการเสียชีวิตสูง จากการเครียดสะสม ฯลฯ
3. ด้านเทคโนโลยี การพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลที่ยากต่อการเข้าถึง โดยอาศัยเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ระบบจัดเก็บข้อมูลสำคัญ (ข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่ดิน ฯลฯ) ด้วยการกระจายข้อมูลไปจัดเก็บในระบบต่างๆ พร้อมตั้งค่ารหัสเพื่อป้องกันการเข้าถึงอีกหนึ่งชั้น
4. ด้านพลังงาน การพัฒนางานวิจัยเพื่อหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากพลังงานในรูปแบบอื่น หากประเทศต้องตกอยู่ในภาวะที่พลังงานธรรมชาติขาดแคลน
5. ด้านการท่องเที่ยว การพัฒนานวัตกรรมหรือระบบบริการที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้สามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ด้วยตนเองได้อย่างปลอดภัย รศ.สมชาย กล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ยังคงเดินหน้าพัฒนาคุณภาพงานวิจัย ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบัณฑิต ผ่านการปรับโครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน ในรูปแบบ "SCI+BUSINESS" หลักสูตรผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และบริหารธุรกิจ โดยการกำหนดให้นักศึกษาแรกเข้าชั้นปีที่ 1 เรียนรู้ในรายวิชาบริหาร และเรียนรู้การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยใช้โครงงานเป็นพื้นฐาน (Project based learning) ตลอดการเรียนในชั้นปีที่ 2-4 เพื่อเป็นการบ่มเพาะให้บัณฑิตมีหลักคิดแบบผู้ประกอบการ ที่สามารถต่อยอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่การคิดพัฒนางานวิจัยหรือนวัตกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคม ตลอดจนสามารถต่อยอดได้เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีศักยภาพ รศ.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.facebook.com/ScienceThammasat หรือ www.sci.tu.ac.th