กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--NBTC Rights
หลักการและเหตุผล
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จำนวน ๗ คน ประกอบด้วยด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ ด้านกิจการโทรคมนาคม ด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ด้านละ ๑ คน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ การอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม มีคุณภาพมาตรฐานที่ดี เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้บริการโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในด้านการสื่อสารถึงกัน สิทธิความเป็นส่วนตัว และความเสมอภาคในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
โดยที่ในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการสรรหา กสทช. ชุดใหม่เพื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ชุดแรกที่ได้สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งลงแล้ว โดยผลการเปิดรับสมัครบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกระหว่างวันที่ ๘ – ๑๔ มกราคม ที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทั้งสิ้น ๘๖ ราย ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาตามที่กฎหมายกำหนด ที่จะต้องคัดสรรให้เหลือ ๑๔ คน หรือเป็นสองเท่าของจำนวนที่ต้องการ เพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เลือกเป็น กสทช. ตัวจริงต่อไป
ถึงแม้ว่าตามกฎหมาย ผู้มีสิทธิเลือก กสทช. จะเป็นเพียงคนจำนวนน้อย คือ สนช. ซึ่งก็คือกลุ่มบุคคลที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อทำหน้าที่เสนอ เห็นชอบ และกลั่นกรองกฎหมายแทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิก ๒๒๐ คน ในขณะที่คณะกรรมการสรรหาก็มีเพียง ๗ คน ประกอบด้วยผู้แทนจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้แทนผู้พิพากษาในศาลฎีกา ผู้แทนตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผู้แทนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้แทนผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ กสทช. เป็นคณะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในกิจการอันเป็นหนึ่งในโครงสร้างหลักของประเทศ เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของผู้คนทั้งสังคม ดังนั้นเพื่อให้เสียงของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสสื่อไปยังผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการคัดเลือก กสทช. รวมถึงบรรดาผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น กสทช. ด้วย ทางส่วนงาน กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงเห็นควรร่วมกันจัดเวที NBTC Public Forum ในหัวข้อเรื่อง "กสทช. แบบนี้...ที่เราต้องการ" ขึ้น ในวันที่ ๒๕ (๒๖) มกราคม ศกนี้ เพื่อให้ผู้แทนจากองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรด้านวิชาชีพสื่อวิทยุโทรทัศน์ นักวิชาการที่ติดตามการทำงานของ กสทช. มายาวนาน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ได้แสดงความคิดเห็นและร่วมออกแบบ กสทช. ที่เหมาะสม โดยหวังให้การดำเนินงานของ กสทช. ในยุคที่สองนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
วัน เวลา และสถานที่จัดงาน
วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ณ หอประชุม ชั้น ๑ สำนักงาน กสทช. ซอยพหลโยธิน ๘ (สายลม) สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
กำหนดการ
NBTC Public Forum : กสทช. แบบนี้...ที่เราต้องการ
วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๓๐ น.
ณ หอประชุมชั้น ๑ สำนักงาน กสทช.
๑๓.๐๐ - ๑๓.๓๐ น. ลงทะเบียน
๑๓.๓๐ – ๑๓.๕๐ น. เปิดงานและกล่าวต้อนรับ
โดย กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
๑๓.๕๐ - ๑๕.๔๐ น. การอภิปรายในหัวข้อ "กสทช. แบบนี้...ที่เราต้องการ"
วิทยากรนำประเด็น
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ผู้แทนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง NBTC Policy Watch
ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
๑๕.๔๐ - ๑๖.๓๐ น. - อภิปรายทั่วไปโดยผู้เข้าร่วมงาน