กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตัวแทนของพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช และนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ลงนามความร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันให้ "อุทยานธรณีโคราช" ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก ในปี 2562 เพื่อให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก หรือ "The UNESCO Triple Crown" ซึ่งในปัจจุบันได้รับการรับรองแล้ว 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช เป็นการสร้างคุณค่าให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่ในระดับโลก คาดช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างประโยชน์ให้เกิดกับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. ชี้แจงว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง วว. และจังหวัดนครราชสีมาในครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือเพื่อร่วมกันอนุรักษ์แหล่งและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และร่วมมือโดยเฉพาะในด้านการวิจัยและการบริการวิชาการ รวมถึงการจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาความก้าวหน้าเชิงวิชาการให้เข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและนานาชาติ นอกจากนี้ หน่วยงานทั้งสองยังจะได้ร่วมกันทำกิจกรรมพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับ พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช พื้นที่อุทยานธรณีโคราช หรือปริมณฑล รวมทั้งพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
"....สำหรับความร่วมมือระหว่าง วว. และจังหวัดนครราชสีมา ในครั้งนี้มีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี โดยจะร่วมมือเชื่อมโยง คือ แหล่งมรดกโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑล และอุทยานธรณีโคราช ตามการดำเนินงาน 3 โปรแกรมของยูเนสโก เพื่อให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก หรือ "The UNESCO Triple Crown" ในอนาคต อันจะยังประโยชน์ให้เกิดกับชุมชนท้องถิ่นไปอย่างยั่งยืน..." รองผู้ว่าการ วว.กล่าวสรุป
อนึ่งสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช วว. จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยพื้นป่าเต็งรังและป่าดิบแล้งประมาณ 50,000 ไร่ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ในปี 2519 จึงได้รับการยกย่องให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล 1 ใน 669 แห่ง ใน 120 ประเทศทั่วโลก ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Biosphere Reserve) พื้นที่ชีวมณฑลสะแกราช (Sakaerat Biosphere Reserve) ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้และวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน (ป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง) ปัจจุบันมีงานวิจัยในพื้นที่แห่งนี้มากกว่า 500 เรื่อง ทั้งยังเป็นห้องปฏิบัติการธรรมชาติสำหรับนักเรียน นักศึกษา ใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านธรรมชาติของป่าไม้ และบริเวณโดยรอบของพื้นที่ป่าไม้ ของสถานีฯ ยังมีหมู่บ้านจำนวน 9 หมู่บ้าน ที่อยู่กับป่าไม้ได้อย่างสมดุล ซึ่งเป็นสถานที่เพื่อการวิจัยทางด้านสังคมเศรษฐกิจกับป่าไม้ได้อีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ศึกษาธรรมชาติและพักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีแหล่งธรรมชาติของป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังที่สมบูรณ์ อุดมด้วยพรรณพืชและพันธุ์สัตว์นานาชนิด มีกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ที่เน้นการถ่ายถอดความรู้ในการอยู่ร่วมกันของธรรมชาติ การพึ่งพาอาศัยได้ประโยชน์ร่วมกัน ความสมดุลของธรรมชาติ วิถีชีวิตตามธรรมชาติของคนใน สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จึงเป็นสถานที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้านทั้งการอนุรักษ์ พัฒนา และสนับสนุนการศึกษาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผืนป่าแห่งนี้จึงได้รับการขนานนามว่า "ผืนป่าแห่งการค้นคว้าเพื่อภูมิปัญญาของทุกคนในการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน" อย่างแท้จริง