กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กพร. เดินหน้าพัฒนากำลังคน ป้อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ต่อยอด EEC และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่รัฐบาบาลได้ตั้งเป้าหมายในการนำพาประเทศเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 พร้อมกับกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศที่มุ่งไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมแห่งอนาคต ส่งผลให้การบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะด้านกำลังแรงงานต้องมีการปรับตัวรองรับนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในส่วนของกพร. ได้ดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับนวัตกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง (High Technology)
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่าในปี 2561 กพร. มีเป้าหมายดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพคนทำงานรองรับไทยแลนด์ 4.0 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่ EEC จำนวนกว่า 130,000 คน ดำเนินการแล้วกว่า 33,000 คน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง 12 แห่ง จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะด้าน อาทิ สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) เป็นศูนย์ยกระดับการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านยานยนต์และชิ้นส่วน ศูนย์ฝึกอบรม Manufacturing Automation and Robot Academy (MARA) พัฒนาทักษะยกระดับและพร้อมจะเตรียมคนทำงานไปสู่ทักษะที่ตรงกับความต้องการสถานประกอบกิจการ ให้กับคนทำงานที่อยู่ในสถานประกอบกิจการและอุตสาหกรรมหลัก จัดตั้ง Training Excellence Center ทั้งศูนย์ฝึกอบรมงานเชื่อมมาตรฐานสากล สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ และมีการจัดหาครุภัณฑ์เทคโนโลยีการฝึกอบรมในการเร่งจัดตั้งศูนย์เพิ่มเติมอีก 9 แห่ง ได้แก่ ศูนย์โลจิสติกส์ สมุทรปราการ เชียงราย (เชียงแสน) ศูนย์ออโตเมชั่น ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ราชบุรี ลำปาง ศูนย์ยานยนต์ ระยอง ศูนย์ดิจิตอลและออโตเมชั่น ฉะเชิงเทรา
ส่งเสริมการพัฒนาทักษะพนักงานที่อยู่ในสถานประกอบการภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ดำเนินการฝึกอบรมพัฒนาพนักงานในด้านที่เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีร้อยละ 50 ของหลักสูตรทั้งหมดที่ดำเนินการฝึกอบรม มีเป้าหมายดำเนินการกว่า 3.5 ล้านคน ดำเนินการแล้วกว่า 1.3 ล้านคน มีโครงการให้กู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานดังกล่าวด้วย มีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกว่า 400 แห่ง นอกจากนี้ยังได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการทดสอบภาคทฤษฎี เพื่อสร้างความมั่นใจในความโปร่งใสในการทดสอบ รวมถึงการปรับแก้ไขหลักเกณฑ์การทดสอบเพื่อให้นักศึกษาอาชีวะระดับปวช.ปีสุดท้าย ที่มีอายุไม่ถึง 18 ปีให้สามารถเข้าสู่กระบวนการทดสอบฯ ได้ เป็นต้น
"ในช่วงระหว่างวันที่ 20-21 มกราคมนี้ นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน จะนำทีมผู้บริหารลงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อสำรวจความต้องการในการพัฒนาคนทำงานโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรม เพื่อการนำข้อมูลที่ได้รับไปต่อยอดในการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคนทำงานตอบสนองความต้องการในพื้นที่ต่อไป" อธิบดีกพร.กล่าว