กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--สกว.
อบต.โนนทัน ขานรับแผนพลังงานชุมชนฯ หนุนอาชีพปั้นเตาซุปเปอร์อั้งโล่จำหน่ายในตำบล หวังลดปริมาณการใช้ถ่าน ลดการตัดไม้ทำลายป่า และเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวสามารถยกระดับเป็นแหล่งผลิตเตาซุปเปอร์อั้งโล่ในภูมิภาคอีสานเหนือ
นางทัศณีญ์ ชมพูวิเศษ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน จังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมโครงการจัดทำแผนพลังงาน 80 ชุมชนสนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 ที่ผ่านมา ทำให้แกนนำชุมชน
และชาวบ้านได้เรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานรวมทั้งผลกระทบต่อการดำรงวิถีชีวิตมากขึ้น อีกทั้งมีโอกาสได้รับรู้และเห็นตัวอย่างเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการใช้เชื้อเพลิง หลายอย่างประกอบกับข้อมูลสำรวจการใช้พลังงานของคนในชุมชนพบว่าปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่สูงที่สุด ได้แก่ ถ่านฟืนคิดเป็นร้อยละ 47.2 ของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมด รองลงมาคือ ไฟฟ้าร้อยละ 23.6 อันเป็นที่มาของโครงการส่งเสริมให้ชาวบ้านปั้นเตาซุปเปอร์อั้งโล่ หรือเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง ขึ้น
“จากการวิเคราะห์ประเภทพลังงานที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้อยู่ คิดว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชนมากที่สุด คือ เตาซุปเปอร์อั้งโล่
โดยจุดเด่นของเตาประเภทนี้อยู่ที่โครงสร้างได้ถูกออกแบบมาให้ความร้อนสูญเสียออกภายนอกได้น้อย อีกทั้งยังให้พลังงานความร้อนสูง
ใช้เชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอต่อการหุงต้มอาหารแต่ละมื้อโดยไม่ต้องเติมถ่านอีก ช่วยประหยัดถ่านได้ถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับเตาหุงต้มแบบเดิมตามท้องตลาด แต่ปัจจุบันเตาชนิดนี้หาซื้อยาก ทาง อบต. และแกนนำชุมชน จึงมีความเห็นร่วมกันว่า น่าจะมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตเตาชนิดนี้ขึ้น เพราะชุมชนมีฐานความรู้หรือภูมิปัญญาด้านการทำเครื่องปั้นดินเผาจำหน่ายอยู่แล้ว ที่สำคัญคือมีแหล่งดินซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญให้การปั้นเตาอีกด้วย ” ปลัด อบต.โนนทัน กล่าว
โครงการสนับสนุนการปั้นเตาซุปเปอร์อั้งโล่ ของ อบต.โนนทัน เริ่มจากการ “สร้างบุคลากร” โดยทำการคัดเลือกช่างฝีมือเครื่องปั้นดินเผาจำนวน 6 คน ไปศึกษาเทคนิคการปั้นเตาซูเปอร์อั้งโล่กับปราชญ์ชาวบ้านที่จังหวัดสุรินทร์ จากนั้นจึงกลับมาดำเนินการทดลองผลิตเตาร่วมกัน
โดยขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการเตรียมการผลิต อันประกอบด้วยการทำแม่แบบเตาซูเปอร์อั้งโล่ จำนวน 10 ตัว การสร้างเตาเผาขนาดใหญ่สำหรับเผาเตาซุปเปอร์อั้งโล่ที่ปั้นเสร็จแล้ว รวมทั้งสร้างโรงเรือนสำหรับจัดเก็บเตาเพื่อรอจำหน่าย ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตได้เร็วๆ นี้
นางทัศณีญ์ กล่าวว่า เตาซุปเปอร์อังโล่ที่ผลิตได้ในเบื้องต้น จะจำหน่ายให้คนในชุมชนในราคาต้นทุน ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับคือชุมชนของเราจะประหยัดพลังงานได้มากขึ้น ลดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเมื่อลดการใช้เชื้อเพลิงก็เท่ากับลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ส่วนผู้ที่ทำเตาขายก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม
นอกจากนี้ในระยะยาว ทาง อบต.หวังว่า กลุ่มจะสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับชุมชนใกล้เคียง และในระยะยาวจะสามารถพัฒนาไปสู่การผลิตเพื่อป้อนตลาดภาคอีสานตอนบนอีกด้วย
นอกจากการส่งเสริมโครงการปั้นเตาเผาเตาซูเปอร์อั้งโล่แล้ว ในปีงบประมาณ 2551 ทาง อบต.ยังมีโครงการส่งเสริมการประหยัดพลังงานด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น การสร้างเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง ที่สอดรับกับอาชีพปลูกไม้ผลของชุมชน สามารถใช้เศษไม้ที่ได้จากการตัดแต่งกิ่ง
นำมาเผาเป็นถ่านสำหรับใช้หุงต้มภายในครัวเรือน หรือเพื่อใช้ควบคู่กับเตาเผาเตาซูเปอร์อั้งโล่ได้ อีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการเตาเผาขยะ เพื่อลดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และบ่อหมักแก๊สชีวภาพจากขยะ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งพลังงานทดแทนของชุมชนในอนาคตเพราะ อบต.มีพื้นที่ทิ้งขยะค่อนข้างจำกัด อีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการสร้างศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานชุมชน โดยจะเป็นการรวบรวมเทคโนโลยีและอุปกรณ์ประหยัดพลังงานรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้กับชุมชน
“ตั้งแต่เริ่มโครงการจัดการพลังงานชุมชน อบรมบ้าง ไปดูงานบ้างทำให้เราชาวโนนทันเข้าใจเรื่องพลังงานมากขึ้น รู้ว่าตั้งแต่เราตื่นขึ้นมา จนเข้านอน กิจกรรมทุกอย่างรอบตัวเราล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของพลังงาน ซึ่งพลังงานทุกอย่างไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ทุกอย่างต้องเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เราสามารถลดการใช้พลังงานในครัวเรือนได้ เพียงแค่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงาน เช่น เมื่อเลิกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้ปิดและถอดปลั๊ก ปิดไฟเมื่อไม่ได้ใช้ เพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้พอรู้สึกสบาย รีดผ้าครั้งละหลายๆ ตัว เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเพียงเท่านี้ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในแต่ละครัวเรือนได้จำนวนมาก และยังเป็นการช่วยชาติประหยัดพลังงานอีกด้วย” นางทัศณีญ์ กล่าว