กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำในพื้นที่บุกรุกทำการเกษตรเพื่อออกแบบและพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริคนอยู่กับป่า และหลักการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน จังหวัดน่าน ณ ดอยเสมอดาว อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน ว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าต้นน้ำ 13 จังหวัดภาคเหนือซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำหลัก 4 สาย ปิง วัง ยม น่าน ที่เป็นต้นน้ำของแม่น้าเจ้าพระยา ถูกบุกรุกทำลายเป็นพื้นที่ประมาณ 8.6 ล้านไร่ โดยมีราษฎรอาศัยอยู่ในพื้นที่บุกรุกกว่า 800,000 ราย ผลกระทบจากการบุกรุกทำลายพื้นที่ต้นน้ำก่อให้เกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลน ตลอดจนการใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้เกิดปัญหาการไหลเปื้อนของสารเคมีจากยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงสู่พื้นที่ราบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบปัญหาดังกล่าว และมีแนวทางการจัดการป่าเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน (เขาหัวโล้น) โดยใช้ 3 แนวทาง คือ 1) การควบคุมดูแลพื้นที่ 2) การดูแลคน และ 3) การพัฒนาด้านการเกษตร ภายใต้ "ยุทธศาสตร์การบูรณาการจัดการป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน (เขาหัวโล้น) ภายใต้วิสัยทัศน์ "เพิ่มพื้นที่สีเขียวบนพื้นที่ป่าต้นน้าเสื่อมสภาพที่สูงชันอย่างยั่งยืน" มีเป้าหมายคือ 1) ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้าเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชันไม่น้อยกว่า 8.6 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 20 ปี 2) พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนในพื้นที่สูงให้สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ 3) สร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4) ลดมูลค่าความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยบูรณาการร่วมกันทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงศึกษาธิการ เน้นส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงแผนดำเนินการด้วยว่า ภาคีเครือข่ายและชาวบ้านในชุมชนเป็นกลไกลสำคัญในการกอบกู้วิกฤติดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพในพื้นที่เขาหัวโล้น ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรม "เอามื้อ...จอบแรก รักเธอเสมอดาว" ที่ดอยเสมอดาว อุทยานแห่งชาติศรีน่านขึ้น ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรวมตัวของทุกภาคส่วน ทุกคนอาสามาร่วมลงแรงจับจอบสร้างระบบน้ำในพื้นที่เขาหัวโล้นตามหลักการออกแบบพื้นที่เพื่อการจัดการน้ำ ซึ่งระบบดังกล่าวเกษตรกรหลายพื้นที่ได้นำไปทำแล้วพบว่าประสบผลสำเร็จ สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างน้อย 3 เท่า สามารถปลูกพืชผักสร้างความพอมี พอกินในครัวเรือน และประสานภาคเอกชน ยกระดับมาตรฐาน พัฒนาเป็นสินค้าชุมชนจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด สามารถลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว คืนผืนป่ากลับมาได้เนื่องจากใช้พื้นที่น้อยลง เป็นการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกตามศาสตร์พระราชา ป่าสมบูรณ์ขึ้นเพราะมีการกักเก็บน้ำจากการขุดร่องน้ำตามความลาดชัน และเก็บน้ำให้ซึมซับลงดินให้มากที่สุด วิธีการดังกล่าวจำเป็นต้องเร่งทำรูปธรรมความสำเร็จเพื่อเป็นแบบอย่าง ปัจจุบันเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดน่านยกมืออาสาเข้าร่วมโครงการกว่า 108 แปลงใน 15 อำเภอ โดยมีจังหวัดน่านหนุนเสริม ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนเข้าร่วมตามพระราชดำรัสพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า "สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย"