กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 8-22 บาทหลากหลายอัตราตามโซนพื้นที่ไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนโดยรวมของผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้นจึงไม่ควรเป็นเหตุของการปรับเพิ่มราคาสินค้า ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำ (Legal Minimum Wage) ที่ปรับเพิ่มยังไม่ได้เป็นค่าแรงที่เพียงพอต่อมาตรฐานการดำรงชีพ (Living Wage) จึงขอเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับผู้มีรายได้น้อย และ มีมาตรการดูแลสถานประกอบการขนาดเล็กที่อาจได้รับผลกระทบจากขึ้นค่าจ้าง
เสนอให้ศึกษาเพื่อนำระบบค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงมาบังคับใช้ในไทย โดยให้มีอัตราที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการก็มีความยืดหยุ่นในการจ้างงานและบริหารต้นทุนด้านแรงงานได้ดีขึ้นอีกด้วยและจ้างเท่าที่จำเป็นต้องใช้แรงงาน
เสนอให้ผู้กำหนดนโยบาย นายจ้าง ลูกจ้างและสถาบันฝึกอบรมเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและเตรียมรับมือกับผลกระทบของเทคโนโลยี หุ่นยนต์อัตโนมัติ อินเตอร์เน็ตของทุกสิ่ง (Internet of Things) และ การพิมพ์สามมิติ (3D Printing) ที่มีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดการจ้างงานโดยรวม
คนงานหญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ คนงานทักษะต่ำและมีระดับการศึกษาน้อย เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องดูแลด้วยมาตรการต่างๆเป็นพิเศษเพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการถูกเลิกจ้างจากการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงาน
15.00 น. 21 ม.ค. 2561 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 8-22 บาทหลากหลายอัตราตามโซนพื้นที่ไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนโดยรวมของผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้นมากนักจึงไม่ควรเป็นเหตุของการปรับเพิ่มราคาสินค้า ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำ (Legal Minimum Wage) ที่ปรับเพิ่มยังไม่ได้เป็นค่าแรงที่เพียงพอต่อมาตรฐานการดำรงชีพ (Living Wage) จึงขอเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับผู้มีรายได้น้อย และ มีมาตรการดูแลสถานประกอบการขนาดเล็กที่อาจได้รับผลกระทบจากขึ้นค่าจ้างด้วย ส่วนการกำหนดโครงสร้างเงินเดือนสำหรับกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปนั้นเป็นมาตรการที่ดีทำให้ลูกจ้างเห็นหลักประกันทางด้านค่าจ้าง ส่วนการใช้ระบบค่าจ้างลอยตัวในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยให้จ่ายค่าจ้างตามผลิตภาพและความสามารถในการผลิตและขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงานและปัจจัยต่างๆทางเศรษฐกิจ
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เสนอให้ศึกษาเพื่อนำระบบค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงมาบังคับใช้ในไทย โดยให้มีอัตราที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการก็มีความยืดหยุ่นในการจ้างงานและบริหารต้นทุนด้านแรงงานได้ดีขึ้นอีกด้วยและจ้างเท่าที่จำเป็นต้องใช้แรงงาน เช่น กำหนดการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงที่ 50 บาทไม่ใช่เอาค่าจ้างขั้นต่ำรายวันมาเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมงเพราะจะทำให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างรายชั่วโมงต่ำเกินไป (308/8 ได้ชั่วโมงละ 38-39 บาทเท่านั้น)
ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า เสนอให้ผู้กำหนดนโยบาย นายจ้าง ลูกจ้างและสถาบันฝึกอบรมเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและเตรียมรับมือกับผลกระทบของเทคโนโลยี หุ่นยนต์อัตโนมัติ อินเตอร์เน็ตของทุกสิ่ง (Internet of Things) และ การพิมพ์สามมิติ (3D Printing) ที่มีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดการจ้างงานโดยรวม
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้อ้างถึง งานวิจัยขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่า ในสองทศวรรษข้างหน้า ตำแหน่งงานและการจ้างงานในไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 44 (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง) มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ โดยกลุ่มคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พนักงานขายตามร้านหรือพนักงานบริการตามเครือข่ายสาขา พนักงานบริการอาหาร ภาคเกษตรกรรม แรงงานทักษะต่ำที่ทำงานซ้ำๆ คนงานโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้าอาจได้รับผลกระทบสูงถึง 70-80% นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ รถยนต์และอุปกรณ์ไฟฟ้า 3D Printing วัสดุน้ำหนักเบา และ รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า แรงงานไทยทั้งหมด 39 ล้านคนต้องเตรียมความพร้อมและรับมือกับ
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยการเตรียมทักษะให้สามารถทำงานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้ การบ่มเพาะทักษะด้านบุคคล (Soft Skills) และ ทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) โดยเฉพาะความรู้ทางด้าน STEM (ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) ที่เป็นประเทศขาดแคลนอยู่
คนงานหญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ คนงานทักษะต่ำและมีระดับการศึกษาน้อย เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องดูแลด้วยมาตรการต่างๆเป็นพิเศษเพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการถูกเลิกจ้างจากการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงาน