กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 69.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 63.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 78.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 82.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 12 ม.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า6.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 412.7 ล้านบาร์เรล ลดลงติดต่อกัน 9 สัปดาห์ ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 58 โดยปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่คลัง Cushing ในรัฐ Oklahomaลดลง 420,000 บาร์เรล อยู่ที่ 42.4 ล้านบาร์เรล ลดลงมากที่สุดตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี พ.ศ. 2547
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 19 ม.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 5 แท่น อยู่ที่ 747 แท่น ลดลงครั้งที่สองในรอบ 3 สัปดาห์
- บริษัทน้ำมัน Ecopetrol ของโคลัมเบียรายงานกลุ่มติดอาวุธ ELN (National Liberation Army) วางระเบิดโจมตีท่อขนส่งน้ำมันดิบ Transandino (กำลังการกลั่น 85,000 บาร์เรลต่อวัน) ทางตอนใต้ ในวันที่ 13 ม.ค. 61 ส่งผลให้การสูบถ่ายหยุดชะงัก อนึ่ง ELN เป็นกองโจรติดอาวุธฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านรัฐบาลโคลัมเบีย
- กลุ่มก่อการร้าย Houthi ในเยเมนขู่ปิดช่องแคบ Bab El Mandeb เพื่อตอบโต้ซาอุดีอาระเบียที่ปิดล้อมท่าเรือในเยเมน โดยกล่าวหาว่าเป็นท่ารับอาวุธจากอิหร่าน ช่องแคบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินเรือสำคัญเชื่อมระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย ที่มีเรือบรรทุกน้ำมันขนส่งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประมาณ 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ หลายแห่งเริ่มกลับมาดำเนินการ หลังจากอุณหภูมิอบอุ่นขึ้น อาทิ โรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ Port Arthur (กำลังการกลั่น 603,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Motiva Enterprises และโรงกลั่นน้ำมัน Port Arthur (กำลังการกลั่น 335,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Valero ทั้งนี้ในช่วงก่อนหน้าสหรัฐฯ เผชิญกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงเฉียบพลัน
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและตลาด ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ม.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 40,855สัญญา อยู่ที่ 541,990 สัญญา สูงสุดตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี พ.ศ. 2552
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- วันที่ 22 ม.ค. 61 บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย (Libya's National Oil Corp.) รายงานแหล่งผลิตน้ำมันดิบ As Sarah (ปริมาณการผลิต 50,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่มีบริษัท Wintershall ของเยอรมนีเป็นผู้รับสัมปทานกลับมาผลิตน้ำมันดิบ หลังปิดตั้งแต่เดือน พ.ย. 60 เนื่องจากข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาการผลิตน้ำมันประกอบกับประชาชนในท้องถิ่นประท้วงการดำเนินการของบริษัท อย่างไรก็ดี ในเดือน ธ.ค. 60 ลิเบียผลิตน้ำมันดิบลดลง 30,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 940,000 บาร์เรลต่อวัน
- InterContinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 16 ม.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3,357 สัญญา อยู่ที่ 570,795 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเนื่องจากนักลงทุนขายเพื่อทำกำไรและลดความเสี่ยง กรณีที่ราคาน้ำมันดิบลดลงหลัง IEA ระบุว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ Non-OPEC อาทิ สหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปีนี้ (EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ม.ค. 61 อยู่ที่ 9.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มจากสัปดาห์ก่อน 258,000 บาร์เรลต่อวัน) โดย IEA ประเมินปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ แคนาดาและบราซิลจะเพิ่มขึ้นรวม 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่าปีก่อนที่ผลิตเพิ่ม 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) อย่างไรก็ดี IEA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันของประเทศ OECD ไตรมาสที่ 2-4/60 เฉลี่ยลดลง 600,000 บาร์เรลต่อวัน สนับสนุนมุมมองของรัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak ว่าปริมาณสำรองน้ำมันทั่วโลกปรับลดลง และเชื่อมั่นว่าตลาดน้ำมันจะปรับเข้าสู่สมดุลในปีนี้ ด้านรัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย นาย Khalid al-Falih กล่าวว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันเห็นพ้องต่ออายุมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันต่อไปจากสิ้นสุดปี พ.ศ. 2561 ให้ติดตามการปิดทำการของหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐ ฯ (U.S. government shutdown) ว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมหรือไม่ เช่น การตัดสินใจใช้จ่ายของประชาชน และภาคธุรกิจการท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ สัปดาห์นี้ด้านเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหว ในกรอบ 67.0-70.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI จะเคลื่อนไหวในกรอบ 61.0-64.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหว ในกรอบ 64.5-68.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่น Galveston Bay (กำลังการกลั่น 459,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ Marathon Petroleum Corp. ปิดดำเนินการหน่วยผลิตน้ำมันเบนซินกำลังการผลิต 120,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัญหาทางเทคนิค และ Kuwait Petroleum Corp. (KPC) ของคูเวต ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 91 RON ชนิดเทอม ปริมาณรวม 637,500 บาร์เรล ส่งมอบช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย. 61 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ม.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 440,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.55 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามบริษัท China National Petroleum Corp. (CNPC) คาดความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปของจีน ในปี พ.ศ. 2561 จะชะลอตัวมาอยู่ที่เพิ่มขึ้น 1.9% จากปีก่อนหน้าที่ เพิ่มขึ้น 3.2% เนื่องจากการแก้ไขปัญหามลภาวะของรัฐบาล ทั้งนี้อุปสงค์น้ำมันเบนซินจะเผชิญความท้าทายจากยอดขายรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น การใช้ธุรกิจแบ่งปันยานพาหนะ (Vehicle-sharing business) รวมถึงการขยายระบบรถไฟความเร็วสูง และ บริษัท CNOOC Trading ของจีนออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน ปริมาณ315,000-332,000 บาร์เรล ส่งมอบ 13-14 ก.พ. 61 ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 360,000 บาร์เรล มาอยู่ 240.9 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 76.5-80.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้นเพราะเกาหลีใต้เผชิญกับคลื่นความเย็น อุณหภูมิในกรุงโซล Seoul อยู่ที่ -15 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ที่ระดับ -19.9 ถึง -13.9 องศาเซลเซียส ตลาดซื้อขายไฟฟ้าในเกาหลีใต้ประกาศให้บริษัทในประเทศจัดการดูแลการใช้ไฟฟ้า และเตรียมปันส่วนการผลิตไฟฟ้าสำรอง ทำให้ผู้ค้าในตลาดสิงคโปร์คาดว่าจะมีแรงซื้อจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ประกอบกับสำนักข่าว Saba ของรัฐบาลเยเมนรายงานโรงกลั่น Aden (กำลังการกลั่น 150,000 บาร์เรลต่อวัน) ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล ปริมาณ 150,000 บาร์เรล เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้า อีกทั้ง บริษัท Saudi Arabia Total Refining and Petrochemical (SATORP: บริษัทร่วมทุนระหว่าง Saudi Aramco ของซาอุดีอาระเบียและ Total ของฝรั่งเศส) มีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน Jubail (กำลังการกลั่น400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในซาอุฯ ช่วงกลางเดือน ม.ค. 61 เป็นระยะเวลา 1 เดือน อย่างไรก็ตาม CNPC ของจีนประเมินอุปสงค์น้ำมันดีเซล ปี พ.ศ. 2561 ลดลงจากปีก่อน0.2 % อยู่ที่ระดับ 2.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 47% อยู่ที่ 496,000 บาร์เรลต่อวัน และ National Development and Reform Commission (NDRC) ของจีนประกาศปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 175 หยวน/ตัน (ประมาณ 0.60 บาท/ลิตร) มีผลตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. 61 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 350,000 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.33 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.5-83.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล