กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติ ในการป้องกันไฟป่า สาเหตุการเกิดไฟป่ามีทั้งปัจจัยทางธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ ซึ่งสามารถป้องกันได้ โดยกำจัดวัสดุที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิง งดเว้นการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟ และหลีกเลี่ยงการจุดไฟหรือก่อกองไฟในพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงสร้างแนวกันไฟ เพราะหากเกิดไฟป่าแนวกันไฟจะช่วยสกัดไม่ให้เพลิงลุกลามขยายวงกว้าง รวมถึงช่วยลด ความสูญเสีย และผลกระทบจากไฟป่าให้น้อยที่สุด
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงไฟป่า ถึง 65 จังหวัด ซึ่งไฟป่ามักเกิดขึ้นจากสภาพอากาศแห้ง ต้นไม้ผลัดใบ และหญ้าแห้งตายจำนวนมาก ประกอบกับลมที่พัดแรง เมื่อเกิดไฟป่า ไฟจึงลุกลามอย่างรวดเร็ว และยากต่อการควบคุม เพื่อความปลอดภัยกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะประชาชนเรียนรู้สาเหตุ การป้องกันและการรับมือไฟป่า ดังนี้ สาเหตุของการเกิดไฟป่า ปัจจัยทางธรรมชาติ อาทิ ฟ้าผ่า กิ่งไม้เสียดสีกัน ก้อนหินกระทบกัน แสงแดดตกกระทบผลึกหิน และปฎิกิริยาเคมีในดินป่าพรุ การกระทำของมนุษย์ อาทิ การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพราะปลูก การจุดไฟให้แสงสว่างในการเดินป่า และการล่าสัตว์ การจุดไฟเผาป่าให้กลายเป็นสภาพทุ่งหญ้า สำหรับเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ และความประมาทของมนุษย์ ฤดูกาลการเกิดไฟป่า สภาพอากาศ ช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายนของทุกปี จะมีสถิติการเกิดไฟป่าสูง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศแห้ง ต้นไม้ผลัดใบและหญ้าแห้งจายจำนวนมาก เมื่อเกิดไฟป่าจึงลุกลามอย่างรวดเร็ว จุดความร้อน (Hotspots) ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี มีสถิติการเกิดไฟป่าสูง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีปริมาณจุดความร้อนจำนวนมากในพื้นที่ประเทศไทย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า การป้องกันไฟป่า กำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง โดยเก็บกวาดพื้นที่ไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อเพลิง พร้อมใช้วิธีฝังกลบขยะและไถกลบเศษวัชพืชแทนการเผา เพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตร งดเว้นการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟ โดยไม่เผาขยะ หรือเศษวัชพืช เพื่อเตรียมพื้นที่เพราะปลูก ไม่เผาหญ้าเพื่อทำทางเดินในป่า ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพงหญ้า ไม่เก็บหาของป่าหรือล่าสัตว์โดยการจุดไฟ รมควัน เพราะไฟอาจลุกลามเป็นไฟป่า หลีกเลี่ยงการจุดไฟ หรือก่อกองไฟในพื้นที่ป่า หากก่อกองไฟ ควรดูแลอย่างใกล้ชิด และใช้น้ำราดดับไฟให้สนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันเพลิงลุกลามเป็นไฟป่า สร้างแนวกันไฟป้องกันเพลิงลุกลาม โดยทำคันดินกั้นหรือขุดเป็นร่องดินล้อมรอบบริเวณบ้าน และพื้นที่การเกษตร รวมถึงตรวจสอบแนวกันไฟ ไม่ให้มีต้นไม้พาดขวาง หากเกิดไฟป่าจะช่วยสกัดไม่ให้เพลิงลุกลามขยายวงกว้าง ทั้งนี้ การเพิ่มความระมัดระวัง ในการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟ การงดเว้นการจุดไฟบริเวณแนวชายป่าและในพื้นที่ป่าไม้ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า รวมถึงลดผลกระทบจากปัญหาไฟป่า