กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--หอการค้าไทย
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมแถลงผลกระทบต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561
นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่ คณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 19 ได้พิจารณาประกาศการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 โดยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ อยู่ที่ 5-22 บาท (1.64-7.14 %) โดยแบ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็น 7 ระดับ ดังนี้
ปรับขึ้นเป็น 308 บาท มี 3 จังหวัด คือ จ.นราธิวาส จ.ยะลา จ.ปัตตานี
ปรับขึ้นเป็น 310 บาท มี 22 จังหวัด คือ จ.สิงห์บุรี จ.นครศรีธรรมราช จ.ตรัง จ.แม่ฮ่องสอน จ.ลำปาง จ.ลำพูน จ.เชียงราย จ.สุโขทัย จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.อุทัยธานี จ.ศรีสะเกษ จ.ตาก จ.ชัยภูมิ จ.อำนาจเจริญ จ.แพร่ จ.ราชบุรี จ.ระนอง จ.มหาสารคาม จ.ชุมพร จ.หนองบัวลำภู จ.สตูล
ปรับขึ้นเป็น 315 บาท มี 21 จังหวัด คือ จ.ร้อยเอ็ด จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.นครสวรรค์ จ.สระแก้ว จ.พัทลุง จ.อุตรดิตถ์ จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ จ.เพชรบุรี จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.ชัยนาท จ.เลย จ.ยโสธร จ.พะเยา จ.บึงกาฬ จ.น่าน จ.กาญจนบุรี จ.อ่างทอง
ปรับขึ้นเป็น 318 บาท มี 7 จังหวัด คือ จ.จันทบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.นครนายก จ.กาฬสินธุ์ จ.ปราจีนบุรี
ปรับขึ้นเป็น 320 บาท มี 14 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.สุพรรณบุรี จ.สระบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.หนองคาย จ.ลพบุรี จ.ตราด จ.ขอนแก่น จ.สงขลา จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา จ.พังงา
ปรับขึ้นเป็น 325 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.นครปฐม จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร จ.ฉะเชิงเทรา
ปรับขึ้นเป็น 330 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี จ.ระยอง
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ได้สอบถามความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวไปยังสมาชิกทั่วประเทศ โดยเฉพาะสมาชิกต่างจังหวัดถึงผลกระทบต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ โดยมีข้อสังเกตว่า จากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 ได้ปรับเกินกว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัด เสนอคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 19 คิดเป็นร้อยละ 92 ของจังหวัดทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มจังหวัด 35 จังหวัดที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ได้เสนอปรับขึ้นค่าจ้าง อาทิ จังหวัดระยอง ซึ่งคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดระยอง มีมติคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมที่ 308 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราเดิมของปี 2560 โดยได้เสนอให้คงเดิมที่ แต่ประกาศอัตราค่าจ้าง ปี 2561 กำหนดให้ปรับเป็น 330 บาทต่อวัน จึงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ภาคบริการ และผู้ประกอบการ SMEs โดยทั่วไป
กกร. ได้รวบรวมความเห็นเพิ่มเติมจากสมาชิกในแต่ละจังหวัดและมีข้อเสนอแนะต่อผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2561 ดังนี้
1. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ได้มีการดำเนินการแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2560
2. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ กกร. มีความเห็นว่า ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจความเป็นจริงของแต่ละจังหวัด และไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด อีกทั้ง ไม่เป็นไปตามการคำนวณดัชนีทางเศรษฐกิจที่ระบุไว้ตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
3. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการเร่งให้มีอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน
4. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในภาพรวม รวมทั้ง ค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นตาม จะส่งผลกระทบต่อประชาชน
5. กกร. สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อมุ่งสู่การลอยตัวของค่าจ้างในที่สุด
6. ในการปรับค่าจ้างครั้งนี้ กกร. มีความเป็นห่วงภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เป็นอย่างยิ่งจึงขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน
7. ภาครัฐควรดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยให้เอกชนที่มีความพร้อมมีส่วนร่วม
กกร. ขอเสนอให้รัฐบาลทบทวน มติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีมติออกมาตามคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง ให้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย (มาตรา 87 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) ที่กำหนดไว้