กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--โซกู๊ด คอนซัลติ้ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมเป็นผู้นำในการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ย่านสยามสแควร์และปทุมวันสู่เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District: SID) เพื่อร่วมขับเคลื่อนภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในประเทศสู่ยุค Thailand 4.0 ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่และสร้างสตาร์ทอัพไทยรายใหม่ด้วยการผลักดันโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป
ศาสตราจารย์ บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกที่สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม โดยมีเป้าหมายสร้างเสริมสังคมไทยสู่วิถีใหม่ในการใช้ชีวิต การเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์"CU Innovation Hub มุ่งหมายที่จะสนับสนุนสังคมไทยให้เป็นชุมชนอุดมปัญญา ซึ่งโครงการนี้เป็นระบบนิเวศน์ทางนวัตกรรมที่เชื่อมโยงความเชี่ยวชาญ งานวิจัยและนวัตกรรมกับความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิเคราะห์และการสร้างผู้ประกอบการ โดยจะเฟ้นหาและส่งเสริมนักสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีพรสวรรค์ บ่มเพาะนวัตกรรมและสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย เพราะเชื่อว่า สังคมนวัตกรรมสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศได้ โดย CU Innovation Hub จะเป็นโครงการที่ร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศชาติในอนาคต" ศาสตราจารย์ บัณฑิต กล่าว
ทั้งนี้ CU Innovation Hub จะมุ่งเน้น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ Digital Economy & Robotics หรือเศรษฐกิจแบบดิจิทัลและระบบหุ่นยนต์ Sustainable Development หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ Inclusive Community & Smart City หรือชุมชนที่มีส่วนร่วมและเมืองอัจฉริยะ
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมสังคมนวัตกรรมผ่านโครงการ CU Innovation Hub นั้นมิได้จำกัดอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย โดยมีแผนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ย่านสยามสแควร์และปทุมวันให้พลิกโฉมจากแหล่งช้อปปิ้งสู่เมืองนวัตกรรมต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ย่านสยามสแควร์และปทุมวันภายใต้โครงการ "เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District)" มีเป้าหมายมุ่งสู่การสร้างสังคมอุดมปัญญา โดยโครงการ "เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม" มีพันธกิจหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1. การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม (Industry Liason) 2. ตลาดนัดนวัตกรรม (Marketplace) 3. ชุมชนนวัตกรรมแห่งอนาคต (Futurium) และ 4. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Talent Building) ซึ่งพันธกิจดังกล่าวได้เกิดเป็นโครงการส่งเสริมนวัตกรรมแห่งสยาม (100 SID) ซึ่งเป็นโครงการที่ผลักดันให้นวัตกรรมรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความร่วมมือทางธุรกิจ ตลอดจนเป็นโครงการต้นแบบในการนำนวัตกรรมไปต่อยอดการใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย