กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส
สภาวะตลาดวันที่ 23 มกราคม 2561 ราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบที่ระดับ 1,331.80-1,338.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ภายในประเทศขายออกอยู่ที่ 20,150 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 50 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 20,100 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่โกลด์ฟิวเจอร์ส GFG18 อยู่ที่ 20,250 บาท โดยราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 40 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 20,210 บาท
(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้น ณ เวลา 15.10 น. ของวันที่ 23/01/61)
แนวโน้มวันที่ 24 มกราคม 2561
สภาครองเกรสบรรลุข้อตกลงโดยมีมติผ่านร่างงบประมาณแล้ว จนหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐสามารถกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง ทั้งนี้วุฒิสภาสหรัฐลงมติผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวอย่างท่วมท้น เนื่องจากวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตจำนวนมากที่ได้คัดค้านร่างงบประมาณดังกล่าวในการลงมติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น ได้หันกลับมาให้ความเห็นชอบ หลังจากที่นายมิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา เห็นพ้องที่จะมีการอภิปรายร่างกฎหมายเกี่ยวกับผู้อพยพก่อนวันที่ 8 ก.พ. อย่างไรก็ดีปัจจัยดังกล่าวไม่ได้กดดันราคาทองคำมากนัก เพราะดัชนีดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากและยังคงเคลื่อนไหวใกล้จุดต่ำสุดรอบ 3 ปี ที่ระดับ 90.113 ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ขณะที่ธนาคารกลางสำคัญอื่นๆกำลังเข้าใกล้การปรับนโยบายสู่ภาวะปกติมากขึ้น ซึ่งยังเป็นปัจจัยกดดันดอลลาร์ เห็นได้จากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% ตามคาด และยืนยันที่จะชี้นำผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ราว 0% ด้วยมติ 8 ต่อ 1 เสียง แต่ BOJ เสนอทัศนะในเชิงบวกมากกว่าเมื่อสามเดือนก่อน โดยส่งสัญญาณความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจะค่อยๆ นำการขยายตัวด้านราคาไปสู่เป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ท่าทีดังกล่าวกระตุ้นสกุลเงินเยนแข็งค่าขึ้นต่อจนกดดันดอลลาร์เพิ่มขึ้น หลังจากช่วงก่อนหน้า BOJ ลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว จนกระตุ้นให้เกิดคาดการณ์เกี่ยวกับการยุติแผนกระตุ้นการเงินครั้งใหญ่ในที่สุด ขณะที่ทองคำได้แรงหนุนเพิ่ม เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่มีการเปิดเผยรายงานว่า รัสเซียได้เพิ่มการถือครองทองคำในเดือนธ.ค. อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำในประเทศได้รับแรงกดดัน จากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องใกล้ระดับแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. ปี 2557 ซึ่งส่งผลลบต่อราคาทองคำในประเทศ เบื้องต้นยังคงให้จับตาราคาทองคำบริเวณ 1,344-1,358 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากราคายังไม่สามารถยืนเหนือโซนนี้ คาดการณ์ว่าราคาทองคำจะอ่อนตัวลงมาบริเวณ 1,327-1,324 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อสะสมกำลัง
กลยุทธ์การลงทุน ทางวายแอลจีมีมุมมองว่า หากราคาทองคำขึ้นทดสอบแนวต้านที่ 1,344 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 1,358 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นักลงทุนยังคงต้องระมัดระวังแรงขายทำกำไรเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเมื่อราคาทองคำมีการปรับตัวขึ้นจะยังมีแรงขายทำกำไรออกมา จึงแนะนำให้นักลงทุนที่สะสมทองคำไว้ขายทำกำไรบางส่วนออกมาบ้าง สำหรับการทำกำไร ให้ดูว่าราคาจะผ่านแนวต้านได้หรือไม่ ถ้าสามารถผ่านไปได้ให้แนะนำให้ถือต่อเพื่อไปขายทำกำไรที่แนวต้านถัดไป และหากราคาทองคำมีการปรับตัวลดลงมาไม่หลุดแนวรับ แนะนำนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สามารถเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้น ทั้งนี้ประเมินแนวรับไว้ที่ 1,327-1,324 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีแนวรับถัดไปอยู่ที่ 1,315-1,303 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ทองคำแท่ง (96.50%)
แนวรับ 1,324 (19,900บาท) 1,315 (19,750บาท) 1,303 (19,600บาท)
แนวต้าน 1,344 (20,250บาท) 1,358 (20,450บาท) 1,365 (20,550บาท)
GOLD FUTURES (GFG18)
แนวรับ 1,324 (20,050บาท) 1,315 (19,920บาท) 1,303 (19,740บาท)
แนวต้าน 1,344 (20,360บาท) 1,358 (20,570บาท) 1,365 (20,680บาท)
หากต้องการทราบทิศทางราคาทองคำและแนวทางลงทุนทองคำ ขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากทีมที่ปรึกษาการลงทุนด้านโกล์ดฟิวเจอร์ส โทร.02-687-9999