กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จัด การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ รางวัล DOW-CST ประจำปี พ.ศ. 2560 เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนจากทั่วประเทศในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่งผลงานโครงการทดลองวิทยาศาสตร์เชิงสร้างสรรค์เข้าประกวด ผ่านการประยุกต์ใช้เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) เพื่อร่วมชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท และครูผู้ชนะรางวัลยอดเยี่ยมในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายจะได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการประชุมวิชาการ Pure and Applied Chemistry Conference 2018 หรือ PACCON 2018 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชี้ให้เห็นว่ากำลังแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวนถึง 4,008,783 คน สูงขึ้นจากปี พ.ศ. 2556 นับเป็นร้อยละ 10.5 (จาก 3,626,669 คน) สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในการผลักดันตลาดแรงงานของไทยเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันบนเวทีโลก
การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ DOW-CST AWARD ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมพัฒนาวิชาการและวิชาชีพครูวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะครูวิชาเคมีให้มีความก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ด้วยการนำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนมาใช้ในการประกวด ให้เยาวชนกล้าแสดงออก รู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง
ในปีนี้ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ DOW-CST AWARD ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" มีโครงงานทั้งสิ้น 47 โครงงาน จาก 29 โรงเรียนทั่วประเทศ เข้าร่วมประกวด และการตัดสินรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้นในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 จามจุรีแสควร์ โดยมีรายนามผู้ชนะดังต่อไปนี้
DOW-CST Award 2017 ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
รางวัลยอดเยี่ยม: โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) โดย คุณครูสุดา ธนพิบูลกุล (โครงงานการกลั่น) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และครูที่ปรึกษาจะได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการประชุมวิชาการ Pure and Applied Chemistry Conference 2018 หรือ PACCON 2018
รางวัลดีเด่น 1: โรงเรียนหมอนทองวิทยา โดย คุณครูสมพร ริศมัน (โครงงานเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาทพร้อมโล่รางวัล
รางวัลดีเด่น 2: โรงเรียนดัดดรุณี โดย คุณครูบุศริน โคนเคน (โครงงานอันตรายจากสารเคมีในชีวิตประจำวัน – Toxic of Cleaning Liquid) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาทพร้อมโล่รางวัล
DOW-CST Award 2017 ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
รางวัลยอดเยี่ยม: โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โดย คุณครูณัฎฐ์ทิตา สิริธราเมธีกุล (โครงงาน Synthesis Purification of ESTER by Microscale) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และครูที่ปรึกษาจะได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการประชุมวิชาการ Pure and Applied Chemistry Conference 2018 หรือ PACCON 2018
รางวัลดีเด่น1: โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง โดย คุณครูสราญรมย์ ยิ่งสุข (โครงงาน การศึกษาปฏิกิริยาระหว่างกรดกับเบส) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาทพร้อมโล่รางวัล
รางวัลดีเด่น2: โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาการ โดย คุณครูรัตนาพรรณ อุตมีมั่ง (โครงงาน Factor Affecting the Chemical Reaction) และ โรงเรียนหอวัง โดย คุณครูชัยพร มิตพิทักษ์ (โครงงานอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างโลหะแมกนีเซียมกับกรดไฮโดรคลอริก) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาทพร้อมโล่รางวัล
นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย กล่าวว่า "เป้าหมายหนึ่งของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในการสนับสนุนการจัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ DOW-CST AWARD คือการสร้างความสนใจ และเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูและเยาวชนไทยในการเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถต่อยอดไปถึงการศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสายงานที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ การสนับสนุนการเรียนวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนไทย ยังเกี่ยวข้องสะเต็มศึกษา หรือการบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ซึ่งการพัฒนาองค์ความรู้นี้ให้แก่เยาวชนตั้งแต่แรกเริ่ม จะสร้างบุคลากรที่เข้มแข็งทั้งในเชิงความคิดและการปฏิบัติเพื่อสร้างความสำเร็จให้แก่ประเทศไทยในอนาคต"
ศ.ดร. สุภา หารหนองบัว นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กล่าวว่า "เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน เป็นองค์ความรู้ที่ช่วยให้วิชาวิทยาศาสตร์สามารถเข้าถึงได้ง่าย บางโรงเรียนอาจจะไม่มีห้องทดลอง ไม่สามารถซื้อสารเคมีที่ราคาสูงได้ แต่หากครูวิทยาศาสตร์นำบทเรียนมาประยุกต์ใช้ มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบการทดลอง ก็จะส่งผลให้การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นไปได้สำหรับทุกคนในทุกระดับชั้น ไม่จำกัดเฉพาะในโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนตามหัวเมืองอีกต่อไป สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ มุ่งร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและสร้างความตระหนักด้านเคมีสีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้โอกาสแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งถือว่าเป็นอนาคต ผู้ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ"
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า "ความร่วมมือของทั้งสามหน่วยงานในวันนี้ มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อย่างเท่าเทียมและช่วยกระตุ้นให้เด็กนักเรียนรู้จักขวนขวายหาความรู้นอกเหนือจากในบทเรียน ทำให้การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์มีชีวิตชีวาและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้ครูวิทยาศาสตร์ต่อยอดองค์ความรู้จากในห้องเรียน ไปสู่กิจกรรมที่สนุกสนานและเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์แก่เด็กนักเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทาง อพวช. ต้องการที่จะส่งเสริมในทุกๆ กิจกรรมที่ผ่านมาของเรา"
โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" หรือ "Dow Chemistry Classroom" ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนวิชาเคมีด้วยใช้เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) และยังมีกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาอื่นๆ ประกอบด้วย การอบรมเชิงปฏิบัติการการทดลองเคมีแบบย่อส่วนให้แก่ครูวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปใช้บูรณาการการเรียนการสอนตามหลักสูตร รวมทั้งการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ต้นแบบดีเด่นให้เป็น Trainer เพื่อเผยแพร่เทคนิคอันเป็นประโยชน์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมการติดตามผลและประเมินกระบวนการสอนเพื่อแลกเปลี่ยนเทคนิคการเรียนการสอนร่วมกัน ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรม กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ให้การสนับสนุนชุดปฏิบัติการการทดลองเคมีแบบย่อส่วนแก่โรงเรียนมากกว่า 7,000 ชุด และมีคณาจารย์ 860 คน จาก 443 โรงเรียนทั่วประเทศ เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งก่อให้เกิดครูต้นแบบปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน 43 คน และมีเด็กนักเรียนกว่า 52,000 คน ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ