ศุลกากรลดอัตราอากรภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)

ข่าวทั่วไป Wednesday October 31, 2007 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
กรมศุลกากรเตรียมลดอัตราอากรสินค้ากว่าร้อยละ 40 ของรายการสินค้าที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ให้เหลือ 0% ตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรกำลังจะออกประกาศกระทรวงการคลัง และประกาศกรมศุลกากร เพื่อลดอัตราอากรตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ และพิธีการในการลดภาษี ซึ่งกรมศุลกากรจะลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ทันที ประมาณร้อยละ 40 ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น แอปเปิ้ล แพร์ พรุน พีช เคมีภัณฑ์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เหล็กรีดร้อนที่ไม่มีการผลิตในประเทศ ยานยนต์ขนส่งตั้งแต่ 30 คน ขึ้นไป รถใช้ในสนามกอล์ฟ รถพยาบาล รถจักรยานยนต์ไม่เกิน 250 ซีซี รถจักรยาน เป็นต้น คาดว่าจะออกประกาศดังกล่าวได้ในวันที่ 31 ตุลาคม 2550 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นไป
สำหรับสินค้าอีกประมาณร้อยละ 55 ของรายการสินค้าทั้งหมดจะทยอยลดภาษีอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 0% ภายในวันที่ 1 เมษายน 2560 เช่น พลาสติก ยาง เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องแก้ว เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า รถบรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน รถจักรยานยนต์เกิน 250 ซีซี นาฬิกา เครื่องดนตรี เป็นต้น ส่วนที่เหลือจะทยอยลดภาษีทุกปีแต่ไม่เหลือ 0% ภายในวันที่ 1 เมษายน 2560 เช่น รถยนต์ขนาดเกิน 3,000 ซีซี ลดภาษีจาก 80% เป็น 75% และลดเป็น 60% ในปี 2553 ยานยนต์ขนส่งตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปแต่ไม่เกิน 30 คน ลดภาษีจาก 40% เป็น 38.18% และลดเป็น 20% ในปี 2560 รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 5 ตันลดภาษีจาก 40% เป็น 36.36% และลดเป็น 20% ในปี 2560
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่ตกลงกับฝ่ายญี่ปุ่น เป็นพิเศษ ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้าตามโควตาที่ตกลงกันลดภาษีเหลือ 0% ชิ้นส่วนยานยนต์ที่นำเข้ามาเพื่อประกอบรถยนต์ (Original Equipment Manufacturing : OEM) ลดภาษีเหลือ 20% โดยสินค้าที่ได้ ลดภาษีต้องเป็นไปตามกฎว?าด?วยถิ่นกําเนิดสินค?าของ JTEPA และต้องแสดงหนังสือรับรองถิ่นกําเนิด สินค้าต่อกรมศุลกากร
อย่างไรก็ตามมีสินค้า 3 กลุ่มที่ไม่ลดอัตราอากร ได้แก่ ยาสูบ ไหมดิบ และรถยนต์ขนาดไม่เกิน 3,000 ซีซี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ