กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.)แนะบริโภคยาเกินความจำเป็นส่งผลเสียต่อสุขภาพ ย้ำผู้ประกันตน ได้รับยาไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติแน่นอน และเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันบัญชียาหลักมีทั้งหมดกว่า 900 รายการ โดยจัดแบ่งตามบัญชียา ก. ข. ค. ง. และ จ. ซึ่งแต่ละบัญชีจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความแรงของโรค ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประกันตนนั้น ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับยาไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งหมายความว่าหากผู้ประกันมีความจำเป็นต้องใช้ยาที่อยู่นอกเหนือไปจากบัญชียาหลักก็สามารถใช้ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
จากข้อมูลของกระทรวงสาธาณสุขระบุว่าคนไทยบริโภคยาประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท คิดเป็น 35 %ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้น จุดนี้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการบริโภคยาที่ไม่เหมาะสม เกินความจำเป็นและใช้ยาราคาแพง ซึ่งบริโภคยาที่เกินความจำเป็นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ จึงอยากชี้แจงให้ผู้ประกันตนได้เข้าใจว่า เมื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ แพทย์จะรักษาจากการจ่ายยาที่มีฤทธิ์อ่อนไปก่อน หากไม่หายก็จะเปลี่ยนเป็นยาที่มีฤทธิ์แรงขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้ประกันตน เช่น ยาพาราเซตามอล มีหลากหลายยี่ห้อ หลายราคา แต่มีตัวยาพาราเซตามอลเหมือนกัน
ส่วนที่มีผู้ร้องเรียนมายังสำนักงานประกันสังคมเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาและบริการทางการแพทย์นั้น สำนักงานประกันสังคมได้ติดตามและแจ้งผลกลับทุกกรณี รวมทั้งมีมาตรการควบคุมคุณภาพของสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูล ปี 2549 ที่ผ่านมา สปส.จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย ไปเป็นเงิน 15,966 ล้านบาท และ ตั้งแต่ เดือน ม.ค.-ก.ค.50 จ่ายไปเป็นเงิน 9,196 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนใช้มากที่สุดในระบบประกันสังคม
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th