ไทยเดินหน้าจำกัดส่งออกยางช่วง 3 เดือน ร่วมกับมาเลย์ และอินโด อย่างจริงจัง ย้ำพร้อมประสานพณ.ตรวจสอบปริมาณยางในสต๊อก พร้อมหาราคาต้นทุนที่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการกรณีได้รับผลกระทบจากนโยบายลดการส่งออก

ข่าวทั่วไป Wednesday January 24, 2018 11:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ร่วมกับประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพาราในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2561 คิดเป็นจำนวนรวมประมาณ 350,000 ตัน เป็นการลดปริมาณยางพาราในตลาดโลกลงอย่างเฉียบพลัน โดยทั้งสามประเทศจะใช้กฎหมายในการดำเนินการของแต่ละประเทศสมาชิกอย่างจริงจัง อย่างกรณีประเทศไทย ได้ออกประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดปริมาณจัดสรรเนื้อยางสำหรับการส่งออก พ.ศ.2561 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 และประเทศมาเลเซียจะดำเนินการภายใต้ Malaysia Rubber Board ซึ่งมีกฎหมายควบคุมการส่งออกเช่นเดียวกับประเทศไทย และด้านประเทศอินโดนีเซียดำเนินการโดย Gabungan Perusahaan Karet Indonesia Rubber Association of Indonesia: GAPKINDO ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ ทั้งนี้ แต่ละประเทศจะมีสัดส่วนในการควบคุมการส่งออกซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณพื้นที่ปลูกและผลิตของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยจะลดสัดส่วนการส่งออกยางอยู่ที่ประมาณ 2.3 แสนตัน ทั้งสามประเทศจะดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้กฎหมายในการควบคุมที่ใช้มาตรการดังกล่าวของแต่ละประเทศ นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะเดียวกัน ทั้งประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก มีเป้าหมายในการเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศตนเองมากขึ้น จะเห็นได้ว่า ด้านมาเลเซียนำร่องเป็นประเทศผู้ผลิตที่นำร่องแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมากขึ้น จนเป็นผู้นำด้านการส่งออกถุงมือยางของโลก และทางรัฐบาลไทยมีนโยบายเร่งเร่งส่งเสริมนวัตกรรม และสนับสนุนให้มีการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ มีหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐที่ตอบรับนำยางพาราไปใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ถนนยางพารา สนามกีฬา บล็อกปูพื้น ปูสระน้ำ รวมถึงที่นอน และหมอนจากยางพารา เป็นต้น ตั้งเป้าการใช้ยางของหน่วยงานรัฐประมาณ 200,000 ตัน ในปี 2561 นี้ "ระหว่างการจำกัดลดส่งออกยาง ใน 3 เดือนนั้น (มกราคม-มีนาคม 2561) มีมาตรการออกมาผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการในมาตรการต่างๆ อาทิ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดยชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี และโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานของรัฐ เป้าหมาย 2 แสนตัน โดยมาตรการต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้เกิดการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น ย้ำว่าบริษัทใดได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ขอให้แจ้งมาที่รัฐมนตรีได้โดยตรง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะประสานกระทรวงพาณิชย์เข้าไปตรวจสอบปริมาณยางในสต๊อก พร้อมทั้งหาราคาต้นทุนที่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการที่ร้องเรียนขอความเป็นธรรมที่รับผลกระทบจากนโยบายลดการส่งออกด้วยทุกราย" นายกฤษฎา กล่าวย้ำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ