กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--
สามศิลปินจากรั้วศิลปากรชวนผู้สนใจมาร่วมเดินทางในโลกของเสียงผ่านผลงานศิลปะปฏิสัมพันธ์ (Interactive Art) 3 ชิ้น เพื่อค้นหาความลับและความสัมพันธ์ของเสียงกับร่างกาย และการเชื่อมโยงเสียงในสถานการณ์ที่แตกต่าง ร่วมสัมผัสเสน่ห์ของเสียงได้ในนิทรรศการ Seeing Our Voice ที่ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 21 มกราคม 2561 นี้
ทุกวันนี้เราฟังกันน้อยลงหรือเปล่า! เพราะในสังคมปัจจุบันคนไม่ค่อยฟังกัน เราใช้ตาตัดสินทุกสิ่งที่เห็นมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์เราใช้หูในการได้ยิน แต่รู้หรือไม่ว่าใน 30 เปอร์เซ็นต์ของการได้ยินนั้นมีสัดส่วนที่เป็นการตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เหตุผลดังกล่าวทำให้หนึ่งศิลปิน ดร.เตยงาม คุปตะบุตร และสองนักดนตรีทดลอง ภัทรพงศ์ ศรีปัญญา และ ทศธิป สูนย์สาทร จาก คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันพัฒนาผลงานวิจัยศิลปะเสียง (Sound Art) ขึ้นมาเพื่อสะท้อนเรื่องราวของเสียงที่บางครั้งถูกละเลยไปผ่านงานศิลปะ
"Seeing Our Voice" เป็นชื่อของนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะเสียง จำนวน 3 ชิ้น ดร.เตยงาม กล่าวว่าผลงานชิ้นแรกมีชื่อว่า "พูดกับฉันสิ" (Please talk to me) เป็นผลงานที่ชักชวนให้ผู้ชมได้มาสำรวจเอกลักษณ์เสียงของตัวเองไม่ว่าจะด้วยการพูดหรือการร้องด้วยเสียงที่หนักเบา หรือเสียงสูงเสียงต่ำ คลื่นเสียงเหล่านี้จะถูกแปลงเป็นรูปร่างสีสันต่างๆ เป็นงานทัศนศิลป์ในรูปแบบศิลปะปฏิสัมพันธ์ (Interactive Art) ผลงานชิ้นที่สองชื่อ "ร่างกายกังวาล" (Echoed Body) ร่างกายส่งผลต่อการเปล่งเสียง ชักชวนให้ผู้ชมได้พินิจลักษณะของเสียงที่ออกมาจากคนที่มีรูปร่างแตกต่างกันย่อมส่งผลให้เสียงที่ออกมาต่างกันด้วย เป็นผลงานที่สื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเสียงและพื้นที่ว่างในร่างกาย ผลงานชิ้นสุดท้ายชื่อ "ศิลปะเสียงมนุษย์ : การสะท้อนสภาวะ sublime ร่วมสมัย" (The Art of Human Voice: A reflection of contemporary sublime) เป็นการนำเสนอ contemporary sublime ของสังคมไทยโดยนำเสนอผ่านเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน 3 เหตุการณ์ แต่มีเสียงของมนุษย์เป็นตัวเชื่อมสำคัญและผสมเหตุการณ์ทั้งสาม คือ เสียงความวุ่นวายที่สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นเสียง Lo-Fi (ไม่สามารถแยกได้ว่าเสียงอะไรมาจากตรงไหน) เสียงคนปฏิบัติธรรมที่วัดป่าในภาคอีสาน และเสียงคุยกันของกลุ่มสาวใต้ในภาษายาวี ซึ่งเป็นเสียง Hi-Fi (สามารถบอกได้ว่าเสียงอะไรมาจากไหน) โดยเสียงจากทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคนละพื้นที่จะถูกผสมผสานเข้าด้วยกันเกิดเป็นเสียงใหม่ที่ยังมีสุนทรียะอยู่ในเวลา 12 นาที และไม่ว่าผู้ชมจะยืนตำแหน่งใดก็จะไม่มีทางได้ยินเสียงที่เหมือนกันเลยซึ่งถือเป็นความน่าสนใจของผลงานชิ้นนี้
และดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าจุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลงานศิลปะดังกล่าวมาจากความรู้สึกที่ว่าทุกวันนี้คนไม่ค่อยฟังกันบางครั้งครูอาจารย์ก็ไม่ฟังลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงาน หรือคนรักก็ไม่ฟังกัน ดังนั้นในฐานะศิลปิน ดร.เตยงาม และทีมจึงร่วมกันหาทางออกที่จะทำให้คนได้ใช้ทักษะการฟังมากขึ้น ทำอย่างไรให้จังหวะชีวิตคนช้าลง นิ่ง และใช้ทักษะการมองควบคู่กับการฟังมากขึ้น จึงกลั่นกรองออกมาเป็นผลงานศิลปะดังกล่าว
ทั้งนี้นิทรรศการ Seeing Our Voice จัดแสดงอยู่ที่ห้องนิทรรศการ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 3-21 มกราคม 2561 นี้ ซึ่ง ดร.เตยงามได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ศิลปะเสียง (Sound Art) นั้นเป็นศิลปะรูปแบบใหม่ในสังคมศิลปะร่วมสมัยที่เริ่มปรากฏให้เห็นในประเทศไทยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาจากกลุ่มนักดนตรีเชิงทดลองที่มีความรู้และทักษะในการสร้างเสียงอยู่แล้ว ซึ่งศิลปินสายทัศนศิลป์หลายคนก็เริ่มใช้เสียงมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแต่ศิลปินส่วนใหญ่ยังไม่มีทักษะในการสร้างเสียงขึ้นเอง และเสียงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่ต้องทำงานร่วมกับองค์ประกอบหลักเพื่อเล่าใจความสำคัญของสารที่นำเสนอ รวมถึงศิลปินเองก็ยังไม่ได้สร้างผลงานที่มีเสียงเป็นองค์ประกอบหนึ่งอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์เช่นนี้ทำให้คำจำกัดความหรือลักษณะเฉพาะของศิลปะเสียงที่สร้างโดยศิลปินชาวไทยยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร
ดังนั้นจุดประสงค์อีกข้อหนึ่งที่เราสร้างผลงานดังกล่าวขึ้นมาก็เพราะต้องการให้คนอื่นนำงานวิจัยหรือชุดความรู้ของเราไปใช้ในการทำงานศิลปะ ให้เหมือนว่ามีวัตถุดิบในการทำงานศิลปะเพิ่มขึ้นอีกชิ้น ที่ผ่านมาศิลปินทำงานศิลปะผ่านรูปร่าง รูปทรง และแสง ตอนนี้ก็อยากให้เพิ่มเสียงเข้าไปด้วย เพราะจริงๆ แล้วการใช้เสียงนั้นไม่ยาก ทุกวันนี้เทคโนโลยีก็พัฒนามากแล้ว ค่าอุปกรณ์ก็เริ่มถูกลง ดังนั้นศิลปินก็ควรจะนำเสียงไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีความรู้ได้ และการใช้เสียงก็ควรจะเป็นทักษะด้านเทคนิคที่ศิลปินรุ่นใหม่ควรจะมีด้วย