กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวในการเปิดงานและบรรยายพิเศษ หัวข้อ"การนำความรู้ด้านการออกแบบมาพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมตามแนวทางศาสตร์พระราชา"ในโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรมและมัณฑนศิลป์ ปี 2561 หลักสูตรการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การออกแบบสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน โดยมีบุคลากรของสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรในกรุงเทพฯ ปทุมธานี นครราชสีมาและปราจีนบุรี จำนวน 100 คน เข้าร่วมที่ห้องประชุม สำนักหอสมุดแห่งชาติ เมื่อเร็วๆนี้ ตอนหนึ่งว่า ว่า สำนักสถาปัตยกรรมมีหน้าที่ในรักษา ฟื้นฟู และสืบทอดศิลปวิทยาการด้านช่างฝีมือและบูรณะซ่อมแซม เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานและงานศิลปกรรมที่มีคุณค่าของชาติ สร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ไทยประยุกต์และไทยร่วมสมัย รวมทั้งช่วยออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ วัดและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งขอชื่นชมสำนักสถาปัตยกรรมที่มีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นับเป็นความโชคดีของคนไทยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยามาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีคุณูปการในการพัฒนาประเทศ ทรงทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ก่อให้เกิดการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และสถาปัตยกรรมที่ทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นทั้งพระบรมมหาราชวังวัง วัดและโบราณสถานต่างๆล้วนเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมที่สง่างามและล้ำค่าของชาติ
นายวีระ กล่าวด้วยว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้พื้นฟูโบราณราชประเพณีของไทย อาทิ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นต้น และพระองค์ทรงเป็น อัครศิลปินด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศในศิลปะหลากหลายสาขา อาทิ ภาพถ่ายจิตรกรรมศิลปะงานออกแบบ ดุริยางคศิลป์ เพลงพระราชนิพนธ์ เป็นต้น รวมถึงด้านสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมร่วมสมัยที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริ อาทิ ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นต้น
ทั้งนี้ ขอให้บุคลากรสำนักสถาปัตยกรรมร่วมกันสืบสานและต่อยอดศาสตร์พระราชาด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ใช้รูปแบบที่เรียบง่ายพอเพียง ใช้พื้นที่และงบอย่างประหยัดโดยใช้วัสดุที่คงทน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ วธ.อยู่ระหว่างคัดเลือกสุดยอดผลงานทางด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 9อาทิ ภาพยนตร์ จิตรกรรม ประติมากรรม เป็นต้น รวมถึงด้านสถาปัตยกรรมโดยมีคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการสืบทอดและต่อยอดองค์ความรู้ศาสตร์แห่งพระราชาไปสู่คนรุ่นหลัง