สหภาพยุโรป ยกเครื่อง กฎ ระเบียบ คุมเข้มความปลอดภัยอาหาร

ข่าวทั่วไป Thursday November 1, 2007 08:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
สหภาพยุโรป ยกเครื่อง กฎ ระเบียบ คุมเข้มความปลอดภัยอาหาร สถาบันอาหาร หวั่นไทยกระทบหนัก เตือนทุกฝ่ายรับมือเร่งด่วน! ก่อนสูญเสียตลาดส่งออกอาหารรายใหญ่
สินค้าอาหารไทยส่อประสบปัญหาหนัก หลังสหภาพยุโรปยกเครื่อง กฎ ระเบียบด้านความปลอดภัยอาหารใหม่หมด โดยเฉพาะวัสดุและสิ่งของที่ใช้สัมผัสอาหาร สารพทาเลท (Phthalates) และ ESBO อันตรายตัวใหม่ที่มากับเครื่องปรุงรส ถูกสหภาพยุโรปจับตาเป็นพิเศษ! ส่งผลกระทบต่อเป้า ส่งออกตลาดใหญ่ในสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มเติบโตสูงของไทย ปี 2549 ไทยติดอันดับ 4 ส่งสินค้าอาหารเข้าตลาดสหภาพยุโรปเป็นมูลค่ารวม 77,982 ล้านบาท โดยประเทศไทยส่งออกเครื่องปรุงรสมีมูลค่าประมาณ 4,400 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสสำคัญที่ไทยส่งออก 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องแกงสำเร็จรูป 25% น้ำปลา 21% ซอสพริก 20% สถาบันอาหารระบุไทยต้องเร่งหารือผู้ประกอบการเพื่อรวบรวมข้อเสนอส่งต่อให้ มกอช. ยื่นต่อตัวแทนจากสหภาพยุโรป 1 พ.ย.นี้ ให้เกิดความชัดเจน ร้องรัฐเร่งเจรจาต่อรองสหภาพยุโรปขยายเวลาบังคับใช้ จาก 1 กรกฎาคม 2551 ออกไป หวังเปิดทางผู้ประกอบการไทยเตรียมรับมือ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าในสหภาพยุโรปในปัจจุบันของสถาบันอาหารพบว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญและ เข้มงวดกับการตรวจสอบสารที่หลุดลอกออกมาจากวัสดุที่สัมผัสอาหาร และภาชนะบรรจุและปนเปื้อนลงสู่อาหารที่บรรจุมา เนื่องจากสารที่หลุดลอกออกมานั้นส่วนใหญ่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อคุณภาพอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโต เกิดการสูญเสียสารกันบูด รสชาติและสีอาหารเปลี่ยน เป็นต้น
สหภาพยุโรปเป็นตลาดนำเข้าสินค้าอาหารที่มีศักยภาพของไทยโดยนำเข้าสินค้าอาหารของไทยเป็นอันดับ 4 ในปี พ.ศ. 2549 ไทยส่งสินค้าอาหารเข้าตลาดสหภาพยุโรปเป็นมูลค่ารวม 77,982 ล้านบาท โดย สินค้าอาหารไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาด (Market share) ในสหภาพยุโรปประมาณ 2.7% และมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดแห่งนี้มีกำลังซื้อที่สูงและมีแนวโน้มว่ากลุ่มผู้บริโภคจะขยายวงกว้างมากขึ้นจากการที่ประเทศในภูมิภาคยุโรปมีความต้องการที่จะรวมกันเป็นตลาดเดียว”
นอกจากนี้ นายยุทธศักดิ์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า แม้ว่าสหภาพยุโรปจะเป็นตลาดที่ไทยต้องพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ แต่การส่งอาหารเข้าสู่ตลาดแห่งนี้ยังมีอุปสรรคอยู่มาก เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นเจ้าตำรับของมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการด้านความปลอดภัยอาหารภายใต้นโยบายสมุดปกขาวว่าด้วยความปลอดภัยอาหารที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ที่ก่อให้เกิดความ ยุ่งยากต่อผู้ส่งออกอาหารไทยมากขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สินค้าอาหารที่ไม่ได้ตามมาตรฐานดังกล่าว ไม่สามารถส่งเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปได้ นโยบายนี้ทำให้สหภาพยุโรปมีการยกเครื่อง กฎ ระเบียบด้านความปลอดภัยอาหารใหม่หมด ทั้งเพิ่มความเข้มงวดและมีความล้ำหน้ามากขึ้นเช่น
การออกกฎ ระเบียบด้านวัสดุและสิ่งของที่ใช้สัมผัสอาหาร (Food Contact Materials) ที่อ้างอิงบนข้อมูลหลักฐานและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่พบว่ามีสารที่เป็นอันตรายหลายชนิดสามารถหลุดลอกออกจากวัสดุ สิ่งของที่ใช้สัมผัสอาหารและบรรจุภัณฑ์ปนเปื้อนลงสู่อาหารได้
ทั้งนี้ สารกลุ่มที่สหภาพยุโรปจับตาเป็นพิเศษ คือ สารกลุ่มพทาเลท (phthalate) และสาร ESBO (Epoxidised soy bean oil) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีที่ใช้เป็นสารเจือปนหรือพลาสติกไซเซอร์ (plasticizers) ที่เติมลงไปในโพลิเมอร์ หรือระหว่างการผลิตพลาสติกประเภทโพลิไวนิลคลอไรด์ หรือ พลาสติก PVC เพื่อทำให้พลาสติกมีความยืดหยุ่นและอ่อนนุ่มขึ้น โดยสารดังกล่าวสามารถหลุดออกมาจากภาชนะบรรจุลงสู่อาหาร และถ่ายเทลงสู่ สิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อากาศ ดิน ได้ง่าย โดยเฉพาะในอาหารที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบเนื่องจากสารดังกล่าวละลายได้ในไขมันและน้ำมัน และเนื่องจากสารกลุ่มพทาเลทเป็นสารมลพิษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน ทำให้สหภาพยุโรปต้องเร่งทบทวนและแก้ไขมาตรการและกฎ ระเบียบ ด้านวัสดุและสิ่งของที่ใช้สัมผัสอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับภาชนะพลาสติกเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
สำหรับสินค้าอาหารไทยที่ส่งเข้าตลาดสหภาพยุโรปเริ่มพบปัญหาการตกค้างของสารกลุ่มพทาเลทที่หลุดลอกออกมาจากฝาขวดแก้วที่ทำด้วยโลหะ ซึ่งมีประเด็นประกอบฝาเป็นพลาสติกมาตั้งแต่ต้นปี 2550 โดยพบการตกค้างของสารกลุ่มพทาเลท 3 ชนิด คือ DINP, DIDP และ DEHP ในสินค้ากลุ่มเครื่องปรุงรสที่มีไขมันและน้ำมันเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ พริกแกงสำเร็จรูป ซอส และเต้าเจี้ยวที่บรรจุในภาชนะขวดแก้วมีฝาปิด ส่วนการตกค้างของสาร ESBO ในสินค้าอาหารไทยนั้นยังไม่มีการส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบการแจ้งเตือนสินค้าอาหารและอาหารสัตว์ (Rapid Alert for Food and Feed System : RASFF) แต่คาดว่าสาร ESBO จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป สหภาพยุโรปจะเริ่มบังคับใช้กฎ ระเบียบเกี่ยวกับสาร ESBO
นายยุทธศักดิ์ ย้ำว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอาหารไทย โดยคาดว่าตั้งแต่ บัดนี้เป็นต้นไปผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้าเครื่องปรุงรสเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) และประเทศสมาชิกของสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ จะได้รับผลกระทบจากกฎ ระเบียบด้านวัสดุและสิ่งของที่ใช้สัมผัสอาหาร ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐควรจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีเวทีเพื่อรับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นจาก ผู้ประกอบการเพื่อใช้ในการเจรจากับสหภาพยุโรปโดยเร็วที่สุด และอาจดำเนินการรวบรวมข้อเสนอให้แก่ มกอช. ต่อไป เพื่อให้ มกอช. ยื่นต่อตัวแทนจากสหภาพยุโรปซึ่งจะเดินทางมาบรรยายเรื่อง กฎ ระเบียบด้าน Food Contact Materials ของสหภาพยุโรปในประเทศไทยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เพื่อให้ได้รับความชัดเจนในเบื้องต้น ในขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐของไทยควรเจรจาต่อรองขอให้ทางสหภาพยุโรปขยายระยะเวลาในการบังคับใช้กฎ ระเบียบดังกล่าวจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้มีเวลาในการปรับตัว
ทั้งนี้ปัจจุบันเครื่องปรุงรสของไทยเริ่มขยายตัวไปสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น จากสถิติการส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยในช่วงปี 2545-2549 ที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี โดยเฉพาะปี 2549 ประเทศไทยส่งออกเครื่องปรุงรสมีมูลค่าประมาณ 4,400 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสสำคัญที่ไทยส่งออก 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องแกงสำเร็จรูป (มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 25), น้ำปลา (21%), ซอสพริก (20%), ผงปรุงรส (16%)
เมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยเข้าตลาดสหภาพยุโรปรวมกับประเทศที่มีการทำความตกลง EEA (European Economic Area) พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2550 ไทยส่งออกสินค้าเครื่องปรุงรสเข้าตลาดสหภาพยุโรปรวมกับประเทศที่มีการทำความตกลง EEA เป็นมูลค่าถึง 1,316 ล้านบาท และในปี 2549 มีมูลค่าการส่งออกรวมถึง 1,761 ล้านบาท และขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 5 ปี ถึงประมาณร้อยละ 16 โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรปขยายตัวเฉลี่ย 5 ปี ที่ร้อยละประมาณ 17 และตลาดนอร์เวย์ขยายตัวเฉลี่ย 5 ปี ร้อยละ 34 ซึ่งหากประเทศไทยไม่เร่งปรับตัวโดยเร็วอาจส่งผลกระทบอย่างแรงต่อการส่งออกสินค้าเครื่องปรุงรสไทยที่สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศกว่า 1,764 ล้านบาทก็เป็นได้
การส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยเข้าตลาดสหภาพยุโรป ปี 2545 - 2550
ตลาดส่งออก มูลค่าส่งออก(ล้านบาท) %เปลี่ยนแปลง
เฉลี่ย5ปี(45-49)
2545 2546 2547 2548 2549 2550*
รวมEU และEFTA 969 1,133 1,400 1,643 1,761 1,316 16.2
สหภาพยุโรป(27) 881 1,033 1,273 1,536 1,664 1,253 17.32
นอร์เวย์ 17 25 21 31 50 22 34
สวิตเซอร์แลนด์ 67 71 99 62 41 34 (25.8)
ไอซ์แลนด์ 4 4 7 14 6 6.75 (118)
ที่มา : ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร www.nfi.or.th/ infocenter
หมายเหตุ : นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ได้รวมตัวเข้ากับสหภาพยุโรป ( 27 ประเทศ ) ในรูปแบบความตกลง EEA ( European Economic Area ) มีลักษณะเป็นตลาดเดียว และสวิตเซอร์แลนด์มีการดำเนินความสัมพันธ์กับ สหภาพยุโรป ( 27 ประเทศ ) แบบความตกลงทวิภาคี ซึ่งมีข้อตกลงของการใช้มาตรฐานที่สอดคล้องกับสหภาพยุโรป
* ปี2550 มูลค่าส่งออกเดือน ม.ค.- ส.ค. 50
รายละเอียดเพิ่มเติม : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 89484 9894, 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ