กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--สสวท.
เมื่อปี พ.ศ. 2527 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) และกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) เพื่อผลิตนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยให้ทุนศึกษาต่อตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา จนถึงปริญญาเอกและส่งเสริมการทำวิจัยหลังปริญญาเอก
นักเรียนทุน พสวท. ระดับ ม. ปลาย จะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาในหลายด้าน ประกอบด้วย การเรียนหลักสูตรการเรียนการสอนพิเศษที่เน้นทักษะปฏิบัติและการแก้ปัญหา ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมทางวิชาการเพิ่มพิเศษ เช่น การเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ ศึกษาดูงาน ประชุมวิชาการ การฝึกงานกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัย ได้รับการส่งเสริมการทำโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้น ม. ปลาย โดยมีคะแนนเฉลี่ยสะสมตามเกณฑ์ จะได้เข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่เป็น คู่ศูนย์กันโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน
ส่วนนิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษาในโครงการก็ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่และมีการทำวิจัยระหว่างเรียนด้วย ซึ่งมีผลงานต่าง ๆ ปรากฏให้เห็นปีละหลายร้อยเรื่องด้วยกัน และได้รับทุนต่อเนื่องจนถึงปริญญาเอกตามศักยภาพของนักเรียน
นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นผลผลิตจากจากโครงการ พสวท. ทยอยเข้ารับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานต่างๆ
ดร. ปิยะพงศ์ เนียมทรัพย์ นักเรียนทุน พสวท. “รุ่นแรก” ได้รับ รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ “2003 TWAS Prizes for Young Scientists in Thailand” สภาวิทยาศาสตร์แห่งโลกที่สาม (The Third World Academy of Sceince : TWAS) และ UNESCO
ดร. ปิยะพงศ์ เนียมทรัพย์ รับทุน พสวท. ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงปริญญาเอก โดยเรียนจบปริญญาเอกสาขาวิชา Applied Mathematics จาก Illinois University สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับทำงานวิจัยด้านคณิตศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย
ดร. ปิยะพงศ์ เล่าว่า ที่ตัดสินใจเข้าโครงการ พสวท. เพราะมีอาชีพรองรับ มีโอกาสศึกษาต่อ ประกอบกับที่ครอบครัวเห็นว่าถ้าชอบคณิตศาสตร์จึงสนับสนุนให้เรียน หลังจากเข้ามาเป็นนักเรียนทุน พสวท. ระดับมัธยมปลาย ทางโครงการจะมีการสอนเสริมหลักสูตรให้ ซึ่งรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะได้รับการเสริมวิชาการหรือเนื้อหาที่ไม่มีอยู่ในหลักสูตรปกติ ทำให้เราได้ความรู้ตรงนั้นเพิ่ม และเกิดแรงจูงใจว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นจริง ๆ แล้วมีอะไรที่มากกว่าที่เราเรียนในห้องเรียน ได้ทำการทดลองใน วันหยุด มีการทำโครงงานเล็ก ๆ และที่ประทับใจเรื่องหนึ่งคือมีโอกาสได้ไปสัมผัสกับห้องปฏิบัติการของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้รู้สึกว่ามีโอกาสดีตรงนี้
“เส้นทางนักคณิตศาสตร์จริง ๆ แล้วไปได้เยอะ อย่างเช่น หน่วยงานเอกชน เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานผลิตรองเท้า ต้องการนักคณิตศาสตร์ไปช่วยวิเคราะห์ ออกแบบ หรือทำการทดลอง จำลองแบบสินค้าเพื่อลดต้นทุน แต่ว่าบ้านเราไปรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศมา เราไม่ได้ทำการวิจัยหรือพัฒนาของเรา แต่
จริง ๆ แล้วคณิตศาสตร์จำเป็นและมีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเกือบทุกด้าน องค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์จะช่วยทำให้ผลการทดลองหรืองานด้านอื่น ๆ มีความถูกต้องแม่นยำ มีพัฒนาการที่ถูกที่ควร เพราะคณิตศาสตร์จะช่วยวิเคราะห์ได้ หรือช่วยปรับได้ สามารถบอกได้ว่าทำไมจุดนี้มีข้อบกพร่องโดยใช้กระบวนการทางคณิตศาสตร์”
นอกจากนั้น ดร. ปิยะพงศ์ ยังมองว่า ปัญหาการขาดแคลนนักคณิตศาสตร์ในบ้านเรานั้นได้รับการแก้ไขจนดีขึ้นมาก เพราะขณะนี้มีผู้จบคณิตศาสตร์โดยตรงจนถึงปริญญาเอกทั้งสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์และคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะจากนักเรียนทุน พสวท. และ คิดว่าในอนาคตน่าจะมีงานวิจัยทางคณิตศาสตร์เยอะขึ้น “จะเห็นว่าหน่วยงานวิจัยหลักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมี ผู้สำเร็จการศึกษาจากทุน พสวท. มีส่วนร่วมเป็นกำลังสำคัญ ผมคิดว่าโครงการ พสวท. ทำให้ประเทศชาติพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวไกลกว่าเดิมมาก”
ดร. จิรันดร ยูวะนิยม นักเรียนทุน พสวท. ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปีจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปภัมภ์ พ.ศ. 2546 ซึ่งเดินหน้าศึกษาสารโปรตีนของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ด้วยเทคนิคโครงสร้างสามมิติโดยอาศัยการหักเหรังสีเอ็กซ์ของผลึกสาร เพื่อให้สามารถเจาะลึกความเป็นไปของโรคมะเร็งให้มากที่สุด
หากจะมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของความสามารถด้านวิชาการของอาจารย์จิรันดรแล้วจะพบว่า ส่วนหนึ่งมาจากแรงผลักดันของโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งสนับสนุนให้อาจารย์ได้มีโอกาสเข้าเรียนในสายวิชาที่สนใจและก้าวมาเป็นนักวิทยาศาสตร์แนวหน้าของไทยในปัจจุบัน
“ตอนผมเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีนั้น ยังไม่มีสาขาวิชาชีวเคมีอย่างที่ต้องการจึงเลือกเรียนในสาขาเคมีก่อน ถ้าไม่มีโครงการพสวท.ช่วยสนับสนุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอกในต่างประเทศ ผมคงไม่มีโอกาสได้เปิดโลกทัศน์และเรียนรู้วิชาด้านชีวเคมีอย่างเข้มข้นเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โครงการดังกล่าวจึงเปรียบเหมือนพ่อมดที่ช่วยบันดาลฝันให้เป็นจริง โดยสร้างนักวิทยาศาสตร์พัฒนาประเทศชาติในอนาคต” ดร. จิรันดร กล่าว
ดร. เทียนทอง ทองพันชั่ง นักเรียนทุน พสวท. ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2547 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จากการศึกษาวิจัยและพัฒนาปฏิกิริยาทางเคมีอินทรีย์ เพื่อใช้ในการสังเคราะห์สารที่มีคุณสมบัติน่าสนใจตามต้องการ
โดย ดร. เทียนทองกล่าวถึงโครงการ พสวท. ว่า "โครงการ พสวท.มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผมสามารถเดินบนถนนสายวิทยาศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะมีโอกาสเรียนในสาขาที่สนใจและสามารถนำความรู้เหล่านี้มาทำงานวิจัยอย่างจริงจัง ผมมองว่าการสนับสนุนเหล่านี้ช่วยสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ให้เมืองไทยมากขึ้น นอกจากนี้ความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างพี่น้องในโครงการสามารถสร้างแรงบันดาลใจแก่รุ่นน้อง จนมีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มใหญ่ที่มีกำลังพอจะขับเคลื่อนวงการวิทยาศาสตร์ไทยได้"
ผศ. ดร. ธีรยุทธ วิไลวัลย์ นักเรียนทุน พสวท. เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชชูปภัมภ์ปีพ.ศ. 2543 ในหัวข้องานวิจัย เรื่อง “การสังเคราะห์และศึกษาของเพพไทด์นิวคลีอิกแอซิคชนิดใหม่ หรือ พีเอ็นเอ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนายารักษาโรคสำหรับยับยั้งการเกิดโรคทางพันธุกรรม”
ผศ. ดร. ธีรยุทธกล่าวอย่างภูมิใจว่า “ผมเข้าร่วมโครงการ พสวท.ในรุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนผลักดันให้ความฝันในวันเด็กของผมเป็นจริง ผมเชื่อว่าโครงการนี้ช่วยสนับสนุนให้นักเรียนและนักศึกษาหันมาเรียนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์มากขึ้น เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นดอกผลจากโครงการ พสวท. มากขึ้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงในเมืองไทยส่วนมากเป็นนักเรียนทุนจากโครงการนี้”
รศ. ดร. พลังพล คงเสรี นักเรียนทุน พสวท. ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมีและศูนย์ เพื่อความเป็นเลิศทางโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของโปรตีน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2546 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปภัมภ์ ทำการศึกษาโครงสร้างสามมิติด้วยเทคนิคการยิงรังสีเอ็กซ์ในผลึกสารอย่างมุ่งมั่นและทุ่มเท
“เดิมผมสนใจการค้นคว้าวิจัยอยู่แล้ว เพราะการตั้งคำถามช่วยสร้างแรงแห่งพยายามที่จะให้ได้คำตอบนั้น และโครงการพสวท. ช่วยสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นด้วยการรวมกลุ่มเด็กที่มีสนใจแบบเดียวกันมาร่วมกัน และหยิบยื่นโอกาสในงานด้านวิทยาศาตร์ที่ชัดเจนในอนาคตไว้ให้ จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ความฝันของเราแน่วแน่มากขึ้น” รศ. ดร. พลังพลกล่าว
ขณะนี้ สสวท. กำลังเปิดรับสมัครนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2550 เพื่อสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประจำปีการศึกษา 2551 จำนวน 60 คน ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550
สนใจสอบถามและขอรับใบสมัครได้ที่โรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 ทุกจังหวัด และ สสวท. โทร. 0-2392-4021 ต่อ 2309-2318 สามารถดูรายละเอียด ดาวน์โหลดใบสมัคร และสมัครผ่านเว็บไซต์ได้ที่ www.ipst.ac.th/dpst