กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กรมประมง
จากที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวกรณีฮิวแมนไรต์วอทซ์ (HRW) ได้มีการเผยแพร่รายงานชื่อ "โซ่ที่ซ่อนไว้ : การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย" (Hidden Chains: Forced Labor and Rights Abuses in Thailand's Fishing Industry) ซึ่งระบุว่า ประมงไทยยังไม่หมดปัญหาการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงมีข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นมากมายจากการดำเนินงานตามมาตรการใหม่ของรัฐบาลไทย
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระเร่งด่วนระดับชาติ เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์แบบองค์รวม ไม่ยอมรับการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง (Zero Tolerance) และจากการปฏิรูปการประมง ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กรมประมงได้กำหนดมาตรการและกฎระเบียบต่าง ๆ โดยบูรณาการความร่วมมือและรับฟังความคิดเห็น ระหว่างหน่วยงานของรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ภายใต้มาตรการและกฎระเบียบที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดให้ตรวจสอบเรือประมงทั้งก่อนและหลังการออกทำประมง โดยศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (Port In-Port Out : PIPO Control Center) จำนวนทั้ง 32 แห่ง และจุดตรวจส่วนหน้าอีก 19 แห่ง กระจายอยู่ในจังหวัดชายทะเล โดยเจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพ ประกอบด้วย กรมประมง กรมเจ้าท่า ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมจัดหางาน ซึ่งมีการตรวจเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และตรวจเรือประมง ตรวจความปลอดภัยของเรือ ตรวจสอบคนประจำเรือว่าถูกต้องตรงตามเอกสาร ในขณะที่จะออกทำการประมง และเมื่อกลับจากทำการประมงก็ได้มีการตรวจสอบความสอดคล้องของแรงงานเมื่อแจ้งออกทำการประมงและขณะที่กลับเข้าท่า ตลอดจนมีการตรวจสอบการจัดเวลาพักให้กับแรงานในเรือประมง รวมทั้งสุขอนามัยและสวัสดิภาพของคนประจำเรือด้วย และมีการการสุ่มสัมภาษณ์ลูกเรือประมงทั้งก่อนและหลังทำการประมง การตรวจสอบดังกล่าว เป็นไปตามกฎกระทรวงระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ พ.ศ. 2559 ออกตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และกฎกระทรวง คุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541นอกจากนี้ ยังมีการออกตรวจตราในเรือกลางทะเล โดยเจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำ สำนักงานปราบปรามและป้องกันยาเสพติด และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมประมง
ทั้งนี้ การดำเนินการที่เข้มงวดดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานได้พบกับเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น เป็นการป้องปรามการกระทำความผิดในด้านแรงงาน อันจะเป็นช่องทางหนึ่งที่แรงงานบนเรือประมงที่ประสบปัญหาหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง สามารถร้องเรียน/ ร้องทุกข์ผ่านเจ้าหน้าที่ขณะที่มีการตรวจสอบได้โดยตรง นอกจากนี้แล้วการที่เรือประมงพาณิชย์ถูกกำหนดให้ออกทำการประมงครั้งละไม่เกิน 30 วัน จะทำให้แรงงานไม่ได้ถูกบังคับให้อยู่ในทะเลเป็นระยะเวลานาน อันจะเป็นการลดปัญหาแรงงานในเรือประมงลงได้อีกทางหนึ่งด้วย