บทความ: เงินชราภาพ 3 เปอร์เซ็นต์...ใช้ยามชรา

ข่าวทั่วไป Thursday September 6, 2007 10:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--สปส.
ทุกวันนี้จากสภาพเศรษฐกิจที่ผันแปรตลอดเวลาและสภาพของสังคมที่เน้นความเจริญ นิยมชมชอบกับวัตถุนิยม “เงิน” ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ แต่จะมีสักกี่คนที่นึกถึงอนาคตข้างหน้าว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร หรือแม้แต่เตรียมความพร้อมไว้สำหรับอนาคต เมื่อตัวเองถึงวัยชรา การเตรียมความพร้อมคือ การรู้จักเก็บออมเงินไว้ใช้ ดังนั้น ในขณะที่ท่านยังมีเรี่ยวแรงทำงานกันอยู่นั้น ควรที่จะเก็บออมเงินไว้ใช้ในยามชรา เพื่อให้บั้นปลายชีวิตของท่านอยู่สุขสบาย ไม่ลำบากต่อไป
ในอนาคต มนุษย์เงินเดือน ผู้ประกันตนในโครงการประกันสังคม ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านมีเงินบำเหน็จบำนาญไว้ใช้ยังชีพในยามชรา ซึ่งเงินจำนวนนี้มาจากเงินที่ท่านจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ทั้งนี้ เงินสมทบมาจาก เงินที่ผู้ประกันตนถูกหักจากเงินเดือนเดือนละ 5 % แบ่งเป็น 1.5 % คือเงินเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายและคลอดบุตร 0.5 % คือเงินว่างงาน และอีก 3 % ที่เหลือคือเงินชราภาพ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน 10,000 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 500 บาท โดยแบ่งเป็นเงินชราภาพ 300 บาท รวมทั้งปี 3,600 บาท เงินจำนวนนี้ผู้ประกันตนจะได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เงินบำเหน็จ (เงินก้อน) และเงินบำนาญ (ได้รับเป็นรายเดือนตลอดชีวิต) ดังนั้น หากผู้ประกันตนท่านใดที่ส่งเงินสมทบทุกเดือนและทำงานมาหลายปีไม่เคยใช้สิทธิใดเลยจากกองทุนประกันสังคม ก็ขอรับรองว่าเงินที่ท่านจ่ายไปตลอดชีวิตการทำงานนั้น ท่านจะได้รับคืนอย่างแน่นอน พร้อมทั้งจะมีเงินสมทบในส่วนของนายจ้างที่จ่ายเข้ากองทุนฯ เพิ่มอีก 3 % ผู้ที่ได้รับเงินเดือน 10,000 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพ 300 บาท ส่วนนายจ้างจ่ายเงินสมทบอีก 300 บาท รวมทั้งปี 7,200 บาท และดอกผลที่ประกันสังคมจ่ายให้ทุกปีด้วย
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ในกรณีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบน้อยกว่า 15 ปี (180 เดือน) จะได้รับเป็น “เงินบำเหน็จชราภาพ” โดยกรณีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเฉพาะในส่วนที่ผู้ประกันตนจ่ายเท่านั้น แต่กรณีส่งเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพส่วนที่ผู้ประกันตนและนายจ้างส่งเข้ามา ทั้งยังรับดอกผลตามประกาศของสำนักงานประกันสังคมในปีนั้นๆ แล้วประกาศให้ทราบ ในส่วนของเงินบำนาญชราภาพ ปัจจุบันยังไม่มีใครได้รับ เพราะอายุของกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพยังไม่ถึง 15 ปี แต่มีหลักเกณฑ์ในการรับเงินคือ ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี (180 เดือน) จะได้รับเงินในอัตราร้อยละ15 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี (180 เดือน) ให้ปรับเพิ่มเงินบำนาญอีกอัตราร้อยละ 1 ต่อระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบทุกๆ 1 ปี ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการปรับเพิ่มเงินบำนาญ จากอัตรา 15% เป็น 20% ของค่าจ้าง และเพิ่มอัตราผลประโยชน์จาก 1% เป็น 1.5% อีกทั้งเมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต สามี ภรรยา ทายาท บุตรหลาน ก็ยังมีสิทธิที่จะได้รับค่าทำศพอีกด้วย หรือหากถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ และมีการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพแก่ผู้มีสิทธิรับเงินจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีผู้ที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย และมีสิทธิจะได้รับเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม โดยในปี 2557 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า จะมีผู้ประกันตนที่เกษียณอายุและได้รับเงินบำนาญจำนวน 6,278 ราย เป็นเงินจำนวน 230 ล้านบาท ผู้สูงอายุในอนาคตกลุ่มนี้เป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ทุกๆ เดือน ส่วนการขอรับสิทธินั้น ผู้ประกันตนจะขอรับประโยชน์ทดแทนทั้ง 2 กรณีได้ เมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยยื่นเรื่องขอรับสิทธิภายใน 1 ปีนับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง หากผู้ประกันตนเสียชีวิตให้ทายาท คือ บุตร สามี ภรรยา หรือบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ยื่นเรื่องขอรับสิทธิได้ทันทีนับจากวันที่เสียชีวิต
ถึงแม้บางคนอาจมองว่าเงินบำเหน็จ เงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเมื่อเกษียณเป็นเงินที่มีจำนวนไม่มาก และมีผู้ประกันตนบางรายเห็นว่าเงินจำนวนนี้ไม่พอใช้ ถ้าเป็นเช่นนั้นท่านควรที่จะออมเงินเพิ่มขึ้น เพราะกองทุนประกันสังคมตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ท่านออมเงินในขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ประกันตนมั่นใจได้ว่า เงินสมทบที่ท่านจ่ายทุกๆ เดือนจะกลายเป็นเงินทุนและหลักประกันในชีวิตของตัวท่านเอง ว่าจะมีเงินไว้ในยามชราตลอดชีวิต และหากผู้ประกันตนต้องการตรวจสอบข้อมูลเงินสมทบทำได้ตลอดเวลา โดยสอบถามไปที่ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด ที่นายจ้างนำส่งเงินสมทบ หรือที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือที่สายด่วน 1506 ก็ได้
ตัวอย่างการคำนวณเงินบำเหน็จ บำนาญชราภาพ
เงินบำเหน็จชราภาพ
ท่านที่จ่ายเงินทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จ ซึ่งเป็นเงินก้อนจำนวนเท่ากับเงินสมทบในส่วนที่ท่านและนายจ้างสมทบเข้ามากลับคืนไปบวกดอกผลที่ได้จากการที่สำนักงานประกันสังคม นำเงินของท่านไปลงทุนในช่วงเวลาที่ท่านจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ
ตัวอย่างเช่น
ท่านที่มีเงินเดือนคงที่ 10,000 บาท ในแต่ละเดือนท่านออมเงินรวมกับส่วนของนายจ้างเป็นจำนวน 600 บาท หากท่านจ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 10 ปี ท่านจะมีเงินออมรวม 600 x 12 เดือน x 10 ปี เท่ากับ 72,000 บาท เมื่อเกษียณอายุ ท่านจะได้รับเงินจำนวนประมาณ 72,000 บาทนี้กลับคืนไปเป็นเงินก้อน หรือเป็นเงินบำเหน็จ เหตุที่ใช้ค่าประมาณก็เพราะเงินบำเหน็จที่ได้รับนั้นจะมากกว่า 72,000 บาท เมื่อรวมดอกผลจากการลงทุน ณ เวลานั้นเข้าไปอีก
เงินบำนาญชราภาพ
ท่านที่จ่ายเงินทบตั้งแต่ 180 เดือน (หรือ 15 ปี) ขึ้นไป จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ โดยจ่ายเป็นรายเดือนได้รับไปตลอดชีวิต เงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเท่ากับร้อยละ 15 (ในฐานการคำนวณ ณ ปัจจุบัน) ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และทุกๆ 12 เดือนที่มีการจ่ายเงินสมทบเพิ่ม ท่านจะได้รับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1
ตัวอย่างเช่น
เงินสมทบเดือนเฉลี่ย 60 เดือน เท่ากับ 10,000 บาทต่อเดือน หากสมทบเป็นเวลา 25 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ดังนี้
180 เดือน = 15 % x 10,000 = 1,500 บาท
เงินเพิ่มอีก 120 เดือน (ทุก 12 เดือน เพิ่ม 1%) = 10 % x 10,000 = 1,000 บาท
รวมเงินที่จะได้รับทั้งหมด 2,500 บาท/เดือน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 www.sso.go.th
ผลิตโดย น.ส.ฤชุวรรณ มูสิกนันท์ วันที่ 3 ก.ย. 50

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ