“ชมพู-สุทธิพงษ์” เผยแนวทางการบริหารฯ ทุบกำแพงค่าย เปิดกว้างรับศิลปิน-นักแต่งเพลง”

ข่าวบันเทิง Wednesday September 5, 2007 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--อาร์เอส
คร่ำหวอดในวงการเพลงมาร่วม 26 ปี สำหรับนักร้อง นักแต่งเพลงฝีมือดีอย่าง “ชมพู-สุทธิพงษ์ วัฒนจัง" ซึ่งล่าสุดก็หันมารับบทบาทใหม่ในการเป็นผู้บริหาร อาร์เอส มิวสิค ของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) โดยได้เผยถึงแนวทางการทำงานในรูปแบบใหม่ของอาร์เอส มิวสิค ที่หวังพัฒนาศิลปิน และ ผลงานเพลง ให้เทียบชั้นกับระดับสากลว่า...
ความรู้สึกเป็นยังไงบ้าง กับตำแหน่งนี้?
"ความรู้สึกมันคละเคล้ากันไป อย่างแรกที่รู้สึกก็คือ..ความรู้สึกท้าทาย แล้วก็เป็นโอกาส ที่ว่าท้าทายก็คือ งานบริหารเป็นงานยาก และในส่วนที่เป็นโอกาสก็คือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้แก้ไขสิ่งที่ผมรู้สึกว่าไม่ถูกต้องที่เราเห็นมาในช่วง 20 กว่าปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิธีการ หรือกติกาต่างๆ ในการทำงานของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ยังมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะปรับให้ลงตัว เพื่อที่จะทำให้ทุกฝ่ายแฮปปี้ที่สุด ยกตัวอย่างในเรื่องลิขสิทธิ์เพลงที่ได้มีโอกาสคุยกับเฮียฮ้อ และก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ก็ต้องขอชื่นชมเฮียฮ้อที่เป็นผู้มีวิสัยทัศน์มากๆ อีกอย่างหนึ่ง ก็คือเป็นความรู้สึกภูมิใจจากการตั้งใจทำงานมา 26 ปี ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ นี่คือรางวัลของความพยายามในการตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ แต่มันก้ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าเราดีกว่าใคร แต่มันทำให้เราต้องพยายามทำทุกอย่างให้เต็มที่ และดีที่สุดจากเดิมที่เราเคยพยายามอยู่แล้ว และก็สร้างความถูกต้องให้กับวงการเพลงได้เท่าที่เราจะทำได้ นี่คือความรู้สึกที่มีทั้งหมดครับ"
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดมีในส่วนไหนบ้าง?
" ก็คงจะเป็นในเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารในส่วน อาร์เอส มิวสิค เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้เกิดผลกระทบอย่างมาก สำหรับบริษัทฯ แต่ผลกระทบนั้นก็ยังไม่ได้ส่งผลอะไรกับบริษัทฯ มากนัก เพราะเรายังมีโอกาส และช่องทางในการปรับตัวได้ หากจะเทียบกับคนทำเพลงซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาตรงนี้ และมีทางออกน้อยมาก ศิลปินกับคนทำงานรายได้ของเค้าคือยอดขาย เพราะฉะนั้นเมื่อเทคโนโลยีมาทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปก็ทำให้ยอดขายลดลง ศิลปินไม่มีรายได้ คนทำงานก็ไม่มีส่วนแบ่ง อันนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่บริษัทฯ ต้องมอง เพราะว่าบริษัทจะอยู่ได้ ก็ต้องมีคนทำงาน และศิลปินครับ”
วิธีการที่นำมาใช้เป็นในลักษณะใด?
“โลกมันหมุนไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องมองไปข้างหน้า และปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปให้สอดคล้องกัน เมื่อก่อนอาร์เอส มีนโยบายทำเพลงวัยรุ่นค่อนข้างชัดเจน และก็ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่เมื่อปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป มีศิลปินใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายหลายแนว และแนวเพลงใหม่ๆ เหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้วงการเพลงกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพอเรามีศิลปินและแนวเพลงที่หลากหลาย รายได้ทั้งหมดทั้งที่มาจากดิจิตอลดาว์นโหลด และ โชว์บิทก็น่าจะเพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันเราก็ไม่ทิ้งความแข็งแรงของเราในการผลิตศิลปินในแบบที่เราถนัด พอเราเปิดกว้างให้กับศิลปิน และคนทำเพลงมากขึ้น ก็เหมือนกับเราได้เอารั้วออกเปิดให้คนภายนอกได้เห็นว่าอาร์เอสเราเปิดกว้างสำหรับศิลปินทุกแนวครับ”
นอกจากในเรื่องการเปิดรับศิลปินที่กว้างขึ้นแล้ว ยังมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องใดอีกบ้าง?
“เพราะปัจจุบันเรากำลังจะเดินสู่ความเป็นสากล เพราะฉะนั้นในเรื่องของลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เราต้องปรับให้เป็นสากลด้วย ในฐานะที่ผมเคยเป็นนักแต่งเพลงด้วย ก็เลยได้มีการพูดคุยถึงการปรับเงื่อนไข ในการทำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลง จากเดิมที่เป็นการซื้อขายแบบผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นเพลงสากล หรือลูกทุ่ง ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน นับจากนี้เราจะเป็นแค่ผู้ได้รับอนุญาติให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ลิขสิทธิ์ทั้งหมดจะตกเป็นของผู้คิดผู้สร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งจริงๆ ก็คงมีคนทำแบบนี้แล้ว เพียงแต่ว่าไม่ใช่บริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นผู้ริเริ่มทำอย่างจริงจัง แต่ในที่นี้ผมก็ไม่ได้จะบอกว่าเราเป็นที่แรกที่ทำ หรือเป็นผู้นำแนวคิดนี้ แต่เราทำไปเพื่อให้ธุรกิจเพลงของเราได้เดินไปในรูปแบบที่เราวางไว้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนี้ครับ"
ในส่วนของคู่แข่งเตรียมกลยุทธ์อะไรไว้สู้บ้าง?
"พูดตรงๆ ผมไม่เคยมีคู่แข่ง ผมไม่เคยทำงานแข่งกับใคร เพราะว่าเราแข่งกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้าเราก็ยากพออยู่แล้ว เวลาที่เราจะสร้างงานขึ้นมา เราจะมองจากโลกทั้งใบ เรากำลังแข่งกับโลกทั้งใบ ไม่ได้แข่งกับคู่แข่ง และผมก็คิดว่าคู่แข่งเองเค้าก็คงไม่ได้คิดว่าเค้ากำลังแข่งกับเราเช่นกัน เพราะวัยรุ่นสมัยนี้เค้าฟังเพลงจากทั้งโลก เค้าไม่ได้เปรียบเทียบเพลงของเรา จากเพลงของค่ายใดค่ายหนึ่งในประเทศไทย เค้าอาจจะเปรียบเทียบเราจากเพลงเกาหลี เพลงญี่ปุ่น ฯลฯ ก็ได้ บางทีสิ่งที่เราต้องแข่งอาจจะไม่ใช่คู่แข่งเลยด้วยซ้ำ เราก็ต้องพยายามแข่งกับโลกทั้งใบ และทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้"
พอเปิดกว้างในการรับศิลปินใหม่ๆ มากขึ้น กลัวศิลปินจะแข่งกันเองไหม?
"ไม่กลัวครับ เพราะว่าต้องแข่งขันกันครับ อย่างแรกก็คือ ครับ การแข่งขันเป็นเรื่องที่ดี เพราะการแข่งขันมันทำให้เกิดการพัฒนา เพราะฉะนั้นในส่วนนี้เราไม่ห่วงครับ เพราะในการทำงานต่อจากนี้ไป เราจะคัดเลือกคุณภาพให้มาเป็นอันดับแรกก่อน และถ้ามีคุณภาพแล้วอะไรก็ตามถึงต้องแข่งกันก็ประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ใช้มากกว่า แล้วแต่ว่าใครชอบใครมากน้อยแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่าถ้ามีคุณภาพแล้วทุกๆ ศิลปินก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ เพราะปัจจุบันนี้กลุ่มคนฟังเพลงแตกต่างกันออกไป คนฟังเพลงก็มีแนวทางต่างกัน ยอดขายของศิลปินนั้นๆ อาจไม่สูง แต่มีความเหนียวแน่นสูง คอมมิวนิตี้ของเค้าจะช่วยดูแลกันเองครับ ซึ่งวันนี้เราก็เห็นแล้วว่ามันเป็นอย่างนี้จริงๆ "
มีศิลปินเตรียมเปิดตัวบ้างหรือยัง?
" หลังจากปรับเปลี่ยน ก็ต้องบอกว่ามีศิลปินเยอะมากที่เข้ามาคุยกับเรา ได้มีการสรุป และเดินงานกันไปแล้วบ้าง ปลายๆ กันยายน ถึง ตุลาคมก็จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ไปเรื่อยๆ ไปจนถึงปีหน้าครับ ทั้งในส่วนของศิลปิน โปรดิวเซอร์ หรือส่วนที่แตะมือเป็นพันธมิตรก็มีเยอะเหมือนกัน แต่ขออุบไว้บอกทีเดียวแล้วกันนะครับ ในเดือนตุลาคมนี้รับรองว่าหลากหลาย และเปลี่ยนอาร์เอสที่หลายๆ คนฝังใจไปเป็นอีกรูปแบบนึงแน่นอนครับ"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ