กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมอุทยานแห่งชาติฯ เดินหน้าสานต่อแนวพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ร่วมอนุรักษ์ป่าภูเขียว สร้างบัฟเฟอร์โซน (Buffer Zone) เน้นให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ลดการล่าสัตว์และบุกรุกป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ผ่านป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นป่าผืนใหญ่ที่ยังคงเหลือไม่กี่แห่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งสองพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นด้วยพระองค์เอง และมีพระราชกระแสรับสั่งว่า "พื้นที่ป่าภูเขียวเป็นที่ราบสูง กว้างขวาง มีสภาพป่าสมบูรณ์และยังมีสัตว์ป่าอยู่มากมายหลายชนิดเป็นจำนวนมาก เหมาะสมที่จะอนุรักษ์ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และพัฒนาให้เป็นสวนสัตว์ป่าเปิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต และการที่จะดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จนั้น จะต้องยับยั้งไม่ให้ราษฎรบุกรุกป่าและล่าสัตว์ป่า โดยการพัฒนาหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียงป่าภูเขียวทั้งหมดให้มีความเจริญ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ มีความเป็นอยู่ดี ส่งเสริมให้ราษฎรมีความรับผิดชอบ รักป่า รักสัตว์ป่า จะได้ช่วยกันดูแลรักษาสัตว์ป่า ไม่ให้ขึ้นไปล่าสัตว์ป่าหรือทำร้ายสัตว์ป่าบนภูเขียว รวมทั้งจะช่วยทางราชการดูแล ป้องกันมิให้ราษฎรจากหมู่บ้านอื่น ๆ ขึ้นไปล่าสัตว์ป่าด้วย"
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรทั้งภายในพื้นที่อนุรักษ์ และนอกพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการ โดยการจัดการพื้นที่กันชน (Buffer Zone) เน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชน ให้ชาวบ้านเข้ามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ซึ่งมีเป้าหมายให้ชาวบ้านไม่บุกรุกป่า และช่วยยับยั้งไม่ให้ราษฎรจากถิ่นอื่นเข้าไปล่าหรือทำร้ายสัตว์ป่าด้วย ขณะที่ภาครัฐก็เรียนรู้จากชาวบ้าน และร่วมมือกันโดยยึดหลักการ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" "การพัฒนาที่ยั่งยืน" และ"คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา" ซึ่งการส่งเสริมอาชีพเกษตรไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพการเพิ่มผลผลิตเพียงด้านเดียว แต่เป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะรูปแบบการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินเพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายปิ่นสักก์ เผยว่า สำหรับพื้นที่กันชนรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการภูเขียว - อียู (Phukhieo - EU : โครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหภาพยุโรป) และโครงการภูเขียว - โลโร่ (PK - LORO : โครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิโลโร่ปาร์คแห่งประเทศสเปน) ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 จนปัจจุบันได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยงานภายใต้โครงสร้างของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ 2 ที่ดำเนินงานเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ว่า "สัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่อาศัย ได้รับการอนุรักษ์จัดการอย่างมีมาตรฐาน" ซึ่งการสร้างแนวเขตที่ถาวรและชัดเจนรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ให้เป็นที่เข้าใจและยอมรับจากคนในชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบป่าภูเขียว ถือเป็นงานที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการพื้นที่กันชน ทำให้ความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและชาวบ้านที่มีมานานกว่า 30 ปี เปลี่ยนเป็นความเข้าใจและร่วมมือกันเป็นอย่างดี
นายปิ่นสักก์ กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการภูเขียว – อียู ว่า ในการกำหนดพื้นที่ป่ากันชนนั้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูเขียวจะร่วมกับชาวบ้านในทุกกระบวนการ ร่วมประชุมและหารือร่วมกัน ซึ่งได้กำหนดแนวเขตเป็นระยะทาง 130 กิโลเมตรใน อ.เกษตรสมบูรณ์ และ อ.หนองบัวแดง โดยใช้แผนที่และเครื่อง GPS เพื่อระบุแนวเขตที่แน่นอน จากนั้นได้ใช้เสาคอนกรีตปักเป็นระยะๆ ห่างกัน 200 เมตร และใช้สีแดงทำสัญลักษณ์ตามต้นไม้และก้อนหิน ซึ่งทุกขั้นตอนท้องถิ่นและชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับชาวบ้านที่อยู่ติดแนวเขต เพื่อลดข้อขัดแย้งหากเกิดการบุกรุกใหม่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะถูกนำไปแก้ไขได้
นายปิ่นสักก์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังได้ส่งเสริมแนวเขตสีเขียว โดยรั้วสีเขียวจะเป็นแนวเขตที่เป็นต้นไม้ ไผ่ และผักหวาน กล้าไม้เหล่านี้จะปลูกบริเวณแนวเขตที่ใกล้กับที่ดินทำกินของชาวบ้าน เพื่อเพิ่มแหล่งผลผลิตจากไม้ที่ปลูก ลดการหาไม้ฝืน และเพื่อเสริมความต้องการ ความพึงพอใจของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนพื้นที่ที่ติดกับป่าสงวนจะทำรั้วสีแดงไว้ โดยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวจะจัดชุดลาดตระเวนไว้ประจำตามศูนย์พิทักษ์ป่า เพื่อตรวจติดตามและรักษาแนว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อให้แน่ใจว่าแนวเขตจะเด่นชัดและได้รับการตรวจตราอยู่เสมอ
"กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้พยายามอย่างต่อเนื่องในการสร้างจิตสำนึกของคนในท้องถิ่น ซึ่งการกำหนดพื้นที่กันชนอย่างชัดเจนจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้าน อีกทั้งยังได้ร่วมกันพัฒนาที่ดินทำกินของชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบผืนป่าอนุรักษ์ และตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนช่วยลดการพึ่งพิงป่าได้โดยตรงและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน" นายปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย