กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางจ้าง มสธ. ศึกษาความต้องการใช้เงินบำเหน็จตกทอดของผู้รับบำนาญ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง
นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลเสนอแนวทางให้ผู้รับบำนาญสามารถนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดส่วนที่เหลืออยู่เป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินได้ แต่เนื่องจากบำเหน็จตกทอดเป็นเงินที่จ่ายให้แก่ทายาทเมื่อผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย กรมบัญชีกลางจึงได้เสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้ผู้รับบำนาญสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ซึ่งกรมบัญชีกลางได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ ครม.พิจารณา ซึ่ง ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 และให้นำเสนอต่อคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และเนื่องจากการพิจารณาของ สนช. มีความเห็นว่า เรื่องนี้ควรจะมีการศึกษาพิจารณาประเด็นต่าง ๆ อย่างรอบคอบก่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้ ขอถอนร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา
นายมนัสกล่าวต่อว่า เพื่อสนับสนุนข้อเสนอของรัฐบาลและนำข้อแนะนำของ สนช. มาดำเนินการเพื่อให้ทุกฝ่ายทราบข้อมูลจริง กรมบัญชีกลางจึงได้จ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มาศึกษาข้อมูลดังกล่าว ในวงเงิน 500,000 บาท โดยจะศึกษาเกี่ยวกับความต้องการใช้เงินบำนาญ ความต้องการนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการกู้เงินของผู้รับบำนาญ และศึกษามาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งจะใช้เวลาทำการศึกษาระหว่างเดือนตุลาคม 2550 — มกราคม 2551 รวม 4 เดือน โดยมี รศ.ดร.กิ่งพร ทองใบ เป็นหัวหน้าโครงการ
“เมื่อศึกษาโครงการนี้เสร็จเรียบร้อย มีผลการศึกษาที่ชัดเจน กรมบัญชีกลางจะนำข้อมูลการศึกษามาใช้ประโยชน์โดยการนำมาเป็นแนวทางแก้ไขกฎหมายบำเหน็จบำนาญต่อไป ซึ่งการแก้ไขกฎหมายจะคำนึงถึงการให้ความช่วยเหลือผู้รับบำนาญให้มีความเหมาะสมมากที่สุด” โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าว