กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 การยางแห่งประเทศไทย จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร (SMART FARMER) รุ่นที่ 1 ได้รับความร่วมมืออันดีจากกรมส่งเสริมการเกษตร ในการบรรยายแนวทางการดำเนินโครงการฯ แก่ผู้เข้าสัมมนา จำนวน 90 คน ณ โรงแรม สยามออเรียนทัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มุ่งการสนับสนุน ส่งเสริม และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีแก่เกษตรกร พร้อมเชื่อมโยงภาคเกษตรสู่อุตสาหกรรมและการค้า เกิดเป็นห่วงโซ่คุณค่าการผลิตทางการเกษตร กระตุ้นแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองสู่การเป็น SMART FARMER กยท. วางเป้าเฟ้นหาเกษตรกรชาวสวนยาง ร่วมโครงการฯ 6,000 ราย ในปี 61 สอดคล้องกับการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี
นายธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ เผยว่า กยท. พร้อมเดินหน้าโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง (SMART FARMER) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจในแนวทางการดำเนินโครงการฯ ให้กับผู้บริหาร และพนักงาน ของ กยท. เพราะถือเป็นผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง จากการทำเกษตรสู่การแปรรูปผลผลิตยางในเชิงอุตสาหกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานระดับสากล สอดรับตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระยะ ๒๐ ปี ในโครงการ SMART FARMER และนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรชาวสวนยางประสบผลสำเร็จในอาชีพอย่างยั่งยืน
"เกษตรกรชาวสวนยาง มีส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรมยางและการประกอบธุรกิจ ดังนั้น เกษตรกรจะต้องมีความรู้และสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของการเกษตรยุคใหม่ ด้วยการเชื่อมโยงการเกษตรเข้ากับการแปรรูปเชิงอุตสาหกรรม เพื่อประกอบธุรกิจการค้า เกิดเป็นห่วงโซ่คุณค่าการผลิตทางการเกษตร" รองผู้ว่าการฯด้านธุรกิจและปฏิบัติการ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายอภิเดช เชาวลิต ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กล่าวถึงหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการคัดกรองคุณสมบัติของเกษตรกรชาวสวนยาง SMART FARMER ว่า จะต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานทั้ง 6 ข้อ ตามที่กำหนดไว้ 1. ต้องมีความรู้ในเรื่องการทำสวนยางพารา เช่น เป็นวิทยากรต้นแบบที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านยางพารา หรือสามารถให้คำแนะนำปรึกษาให้กับผู้อื่นได้ 2. มีข้อมูลด้านยางพาราประกอบการตัดสินใจ เข้าถึงแหล่งข้อมูลทั้งจากเจ้าหน้าที่หรือผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอื่นๆ เพื่อนำมาบริหารจัดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอาชีพของตนเองได้ 3. มีการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาดเช่น สามารถบริหารจัดการ ด้านปัจจัยการผลิต หรือเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดเพื่อให้ขายผลผลิต หรือจัดการของเหลือจากการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Zero waste management) 4. มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้ใช้ยางพารา มีความรู้ ความเข้าใจหรือได้รับการอบรมกระบวนการผลิตเกี่ยวกับมาตรฐาน GAP/GMP หรือมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 5. มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม/สังคม มีกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (Green Economy) รวมถึงมีกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง 6. มีความภูมิใจในความเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง มุ่งมั่น ความสุข ความพึงพอใจในการประกอบอาชีพ รักและหวงแหนพื้นที่และอาชีพชาวสวนยางไว้ให้รุ่นต่อไป
"โครงการ SMART FARMER มุ่งส่งเสริม สนับสนุน และถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งด้านวิชาการ การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาดและการทำธุรกิจ ผ่านการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี ในรูปแบบการจัดประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายให้สถาบันเกษตรกร พัฒนาไปสู่การดำเนินธุรกิจได้ทั้งในและต่างประเทศ" ผอ.ฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กล่าวทิ้งท้าย