กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่ประชุมสินเชื่อเกษตรและชนบทโลก หวั่นการเติบโตของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และภาวะโลกร้อน ทำผลผลิตอาหารในภูมิภาคต่าง ๆ ขาดแคลน เน้นการเข้าไปดูแลจัดการ การให้บริการสินเชื่อที่หลากหลาย และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้ทันต่อปัญหา เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอาหารและประชากร
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมสินเชื่อเกษตรและชนบทโลก ได้หยิบยกเอาเรื่อง “ความพอเพียงด้านอาหาร” มาเป็นประเด็นสำคัญเพื่อหาข้อสรุปในการกำหนดทิศทางตลอดจนวิธีการในการพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อให้เกิดความสอดคล้องระหว่างแหล่งอาหาร และประชากรของภูมิภาคต่าง ๆ โดยแสดงความเห็นโดยรวมว่า ต้องเร่งพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี การเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการการดูแลในเรื่องสินเชื่อที่เพียงพอกับผู้ผลิตในชนบทควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อป้องกันผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนโดยรัฐบาลและเอกชนจะต้องร่วมกันดูแลอย่างจริงจัง ทั้งนี้ผู้นำจากองค์กรต่าง ๆ ได้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ เช่น
Mr.Ralph Houtman ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติกล่าวว่า การขจัดความยากจนและความหิวโหยเป็นเป้าหมายหลักขององค์การสหประชาชาติซึ่งต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและความก้าวหน้าควบคู่ไปด้วยโดยกล่าวอีกว่านับตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมาความมั่นใจว่าอาหารเพียงพอได้เปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากประชาชนโลกที่เพิ่มขึ้นถึง 9,000 ล้านคน ทำให้ความต้องการอาหารของประชาชนมากกว่าผลผลิตที่ได้นอกจากนี้ความเติบโตทางเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีรูปแบบการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป หันไปทานโปรตีนและผักมากขึ้น ทำให้ต้องใช้ต้นทุนในการผลิตมากขึ้น ปัญหาสำคัญคือ จากวิวัฒนาการที่ผ่านมามีการใช้ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และการชลประทานเพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมซึ่งวิธีการดังกล่าวแม้จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นรวดเร็วแต่ไม่มีความยั่งยืนและก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค
Mr.Zheng Hui ประธานธนาคาร ADBC ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการอยู่รอด นี่คือสุภาษิตของจีนซึ่งทั่วโลกก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศที่ผลิตธัญพืชได้มากที่สุดของโลก นับตั้งแต่มีการปฏิรูป ประเทศจีนได้ให้ความสนใจด้านอาหาร ด้านการเพิ่มผลผลิตอาหารอย่างต่อเนื่องโดยใช้ “ระบบสัญญาณการผลิตกับครัวเรือน” ซึ่งเป็นระบบที่ให้แต่ละครัวเรือนกำหนดว่าจะทำการผลิตจำนวนเท่าใด ทำให้มีผลผลิตเกินกว่า 5 ล้านตันติดต่อกัน 3 ปี ซึ่งถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ของจีน ทำให้อาหารมีความหลากหลายและเพียงพอ นอกจากนี้ยังกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรทำให้รายได้ของชาวไร่ชาวนาเพิ่มขึ้น มีการยกเลิกภาษีทางการเกษตร ปรับโครงสร้างพื้นฐานทางการผลิตใหม่ พร้อมการคุ้มครองสภาพแวดล้อม ส่งเสริมพื้นที่ให้มีการเพาะปลูกควบคู่กับการสนับสนุนทางการเงินทำให้ชนบทได้รับประโยชน์มากขึ้น ในส่วนการให้สินเชื่อ ธนาคารจีนได้จัดทำโครงการพาณิชย์เพื่อชนบทมีการก่อตั้งสหกรณ์ภาคชนบททำให้ชาวไร่ชาวนาจีนสามารถขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีระบบการให้กู้เงินในหลากหลายรูปแบบ เช่น เงินด่วน พร้อมกับริเริ่มโครงการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต เช่น การถนอมอาหารแบบใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามแม้มีผลผลิตมากมายก็ยังมีปัญหาความไม่สมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลายเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกน้อยลง ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ต้องมีการนำเข้าบางส่วน โครงสร้างพื้นฐานชนบทยังไม่ทันสมัยจำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งนอกภาคการเกษตรและการปฏิรูประบบการเงินด้วย
Mr.Moh’d Hussein Adam ผู้แทนธนาคารเกษตรจากประเทศซูดาน กล่าวว่า ต้องเน้นให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ยกตัวอย่างประเทศซูดานผลิตข้าวสาลีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนจึงได้วางแผนการผลิต 5 ปี ในการส่งเสริมภาคการเกษตร การพัฒนาทางการตลาด การลงทุนเรื่องที่ดินรวมทั้งสร้างขีดความสามารถการให้สินเชื่อในภาคชนบทควบคู่กับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยมีธนาคารของรัฐเป็นเครื่องมือในการให้บริการสินเชื่อแก่เกษตรกร นอกจากนี้จะเน้นความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในการทำโครงสร้างพืชฐานในการผลิตข้าวสาลี พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีตลอดจนปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
นายธีรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือในเรื่องความเสมอภาคชาวชนบทในระดับฐานรากเกี่ยวกับการรับบริการทางการเงิน ซึ่งที่ประชุมได้พยายามเสนอแนวทางการพัฒนาที่หลากหลาย เพื่อให้คนในชนบทได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ควบคู่กับการให้ความรู้ทางด้านการจัดการ ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของภาคการเกษตร โดยในส่วนของ ธ.ก.ส. มีแนวคิดที่จะส่งเสริมการเงินแก่สตรีในระดับฐานราก เนื่องจากสตรีมีวินัยทางการเงิน และมีบทบาทสำคัญในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและการดูแลด้านสุขภาพอนามัยให้แก่คนในครัวเรือน โดยจะให้บริการสินเชื่อที่เน้นไปที่กลุ่มสตรีมากขึ้น เช่น สินเชื่อวิสาหกิจชุมชน สินเชื่อกลุ่มแม่บ้าน ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพ