กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าปัจจุบันประเทศไทยมีสถานประกอบกิจการ ที่ให้ความสนใจเพิ่มผลิตภาพแรงงานจำนวนมาก ซึ่งทักษะแรงงานไทยจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้ทันกับการเปลื่ยนแปลงของเครื่องมืเครื่องจักร และนวัตกรรม ตลอดจนการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีอัตโนมัติซึ่งควรผลักดันให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพแรงงาน มากกว่าด้านเงินทุนหรือปริมาณแรงงาน
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า กพร. ได้จัดทำโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย สู่ SMEs 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs ให้สามารถพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้นตามนโยบายของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพิ่มทักษะด้านการบริหารจัดการในกระบวนการผลิตให้ความรู้ในการคิดวิเคราะห์งาน โดยจะส่งนักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่ ร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยออกให้คำปรึกษาการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน แก่ SMEs กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ OTOP ที่เข้าร่วมโครงการ รวม 185 แห่ง ใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร คลอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 65,000 คน ล่าสุด กพร.ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมปี 2561 เพื่อช่วยเหลือ SMEs อีก 200 แห่ง และวางแผนดำเนินการต่อเนื่อง 5 ปีรวม 1,000 แห่ง ในวงเงินงบประมาณ 450 ล้านบาท นอกจากนี้ กพร.ยังดำเนินการปรับปรุงอาคารฝึกอบรมพร้อมจัดหาครุภัณฑ์ เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ และความรู้แก่นักพัฒน์พันธุ์ใหม่ครูต้นแบบ และแรงงานให้มีศักยภาพสูงขึ้น สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และพัฒนาคนทำงานให้สอดคล้อง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อป้อนตลาดแรงงานด้วย
ปัจจุบันโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้เริ่มดำเนินการแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 หลายจังหวัด ได้นำคณะที่ปรึกษาเข้าศึกษากระบวนการผลิตของสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการเพื่อชี้แจงและวิเคราะห์กระบวนงาน ที่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ทำให้มีต้นทุนสูง โดยไม่จำเป็น อาทิ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 9 พิษณุโลก เข้าให้คำปรึกษาแก่ บริษัท พี อี เทคนิค จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและส่งออกอุปกรณ์ไฟฟ้ารถยนต์ เช่น ผลิตภัณฑ์ด้านไดสตาร์ทของรถยนต์ ขนาดใหญ่ทุกชนิด เพื่อศึกษาข้อมูลด้านการผลิตดังกล่าว แล้วนำมาวิเคราะห์หาจุดที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ สพร.9 พิษณุโลก ยังให้คำปรึกษาแก่กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนาเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มทักษะความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทอผ้า ตั้งแต่การย้อมสี จนถึงขั้นตอนการจำหน่าย
ที่ผ่านมากลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนาเมือง มีรายได้หมุนเวียนจากการจำหน่ายผ้าทอพื้นเมือง สูงถึง 2 ล้านบาทต่อปี ทั้งจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ แต่สมาชิกยังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงต้องการให้คณะที่ปรึกษาช่วยวิเคราะห์ขั้นตอนต่างๆ ในการผลิต เพื่อให้สามารถเพิ่มความรวดเร็วต่อการผลิตผ้าทอในแต่ละผืน รวมถึงเพิ่มทักษะความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยการเพิ่มผลิตภาพแรงงานจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบกิจการ ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพ ทำให้มีรายได้สูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนต่ำลง กำไรจากการดำเนินงานก็มากขึ้น ธุรกิจมีความมั่นคง นำไปสู่ภาพรวมด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน อธิบดี กพร. กล่าว