กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
ก.แรงงาน ย้ำ ! ฝึกทหารเกณฑ์มีอาชีพหลังปลดประจำการ ป้อนตลาดแรงงานหรือนำความรู้ไปประกอบอาชีพเสริม พึ่งพาตนเองได้
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ากำลังแรงงานไทยส่วนหนึ่งที่เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ปีหนึ่งๆ มีจำนวนนับแสน โดยในปี 2561 มีทหารเกณฑ์ จำนวน 130,097 คน เมื่อฝึกครบ 2 ปี กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นกำลังแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน กพร.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของทหารก่อนปลดประจำการและส่งเสริมการมีงานทำให้กับทหาร โดยประสานความร่วมมือกับกรมการจัดหางานในเรื่องการหาตำแหน่งงานว่างด้วย สำหรับในปี 2561 มีเป้าหมายฝึกอบรมกว่า 3,000 คน ดำเนินการแล้ว 1,635 คน ซึ่งเป็นทหารที่จะปลดประจำการในปีนี้ ให้สามารถนำไปประกอบอาชีพหรือเข้าสู่ระบบการจ้างงานในภาคแรงงานซึ่งการฝึกทหารสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในเรื่องยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพ พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า สาขาที่ดำเนินการฝึก ได้จากการสำรวจความต้องการฝึกอาชีพ อาทิ ช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร การบำรุงรักษารถยนต์ การปูกระเบื้อง มีระยะเวลา 18 – 30 ชั่วโมง ทหารก่อนปลดประจำการที่ได้รับการฝึกทักษะด้านช่างในสาขาต่างๆ จะสามารถนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว ซึ่งทหารที่ปลดประจำการแล้ว จะเป็นแรงงานสำคัญที่ช่วยทดแทนภาวะขาดแคลนแรงงานได้ และช่วยให้ผู้ประกอบกิจการมีแรงงานที่มีคุณภาพ เพราะทหารถูกฝึกทั้งความอดทน ความรับผิดชอบและทักษะอาชีพที่หลากหลาย
นายธีรัชพล แก้วขา (พล) อายุ 25 ปี เป็นพนักงานเวรเปล โรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง เงินเดือน 9,500 บาท เล่าให้ฟังว่าผ่านการฝึกอบรมสาขาช่างไม้เครื่องเรือน จากสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานน่าน ได้รับความรู้จากการนำไม้ไผ่มาประกอบเป็นเก้าอี้ ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ทำที่นั่งเล่นจากไม้ไผ่ เตียงพับจากไม้ไผ่ ชั้นวางของในรูปแบบต่างๆ จึงใช้เวลาว่างหลักเลิกงานและวันหยุด ทำผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่สำหรับจำหน่าย ซึ่งช่วยให้ตนมีรายได้ช่วยเหลือครอบครัวเพิ่มมากขึ้นประมาณเดือนละ 1,000 – 2,000 บาท เนื่องจากเป็นช่วงการฝึกทำ ยังมีความชำนาญไม่มากจึงทำผลิตภัณฑ์ได้น้อยชิ้น พลยังบอกอีกว่า สนใจที่จะฝึกอบรมในสาขาช่างเชื่อมเพิ่มเติม เพราะมีความรู้พื้นฐานด้านช่างเชื่อมอยู่บ้าง หากได้เรียนรู้เพิ่มเติมตามหลักวิชาที่ถูกต้อง น่าจะช่วยให้มีอาชีพในการรับเหมางานด้านก่อสร้าง โครงเหล็ก โครงหลังคา การทำเหล็กดัดประตู/หน้าต่าง เป็นต้น พลยังบอกในช่วงท้ายอีกด้วยว่า การฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเน้นการฝึกปฏิบัติ ทำให้ผู้ที่ผ่านการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาประกอบอาชีพได้จริง บางคนนำความรู้ไปประกอบอาชีพหลักได้เลย