กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (DBD) จัดการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี "สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร" ครั้งที่ 5 ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินสดและทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี กว่า 80,000 บาท
โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาสาขาการบัญชี ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้แสดงความรู้ความสามารถทางด้านบัญชี ผ่านการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี สร้างความตระหนักรู้รับผิดชอบทางวิชาชีพ ให้ได้รับการพัฒนาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่มีศักยภาพ พร้อมมุ่งสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวมีสถาบันการศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาจากทั่วประเทศส่งนักเรียนเข้าร่วมแข่งขัน แบ่งเป็นระดับ ปวศ.จำนวน 55 ทีม และระดับ ปวช. จำนวน 50 ทีม ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ ชั้น ๖ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ในฐานะสถาบันการศึกษาตระหนักดีว่า วิชาชีพบัญชีเป็นหนึ่งในสาขาวิชาชีพที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังเป็น 1 ใน 7 สาขาวิชาชีพ ที่มีการโอนย้ายแรงงานเสรีในกรอบข้อตกลงร่วมสาขาวิชาชีพของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ดังนั้นการสร้างรากฐานและพัฒนาศักยภาพนักเรียนในสายวิชาชีพการบัญชีให้มีทักษะเชิงวิชาการที่แข็งแกร่ง มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความพร้อมถึงคุณธรรมและจริยธรรมในวิชาชีพ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สถาบันการศึกษาต้องตระหนักและมุ่งเน้นผลิตนักบัญชีที่มีความรู้และความสามารถให้ทัดเทียมนานาประเทศ"
"แก้ว" นางสาวธัญพร รอดสุพรรณ ตัวแทนจากทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี เล่าว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแข่งขันในครั้งนี้ คือ ความรอบคอบและความรู้ในทักษะด้านบัญชี อีกทั้งยังสามารถนำความรู้การจากแข่งขันไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
"พอได้ยินเสียงประกาศว่าทีมเราได้รับรางวัลชนะเลิศ ภูมิใจและดีใจมาก เพราะพวกเราฝึกฝนทบทวนโจทย์ด้านบัญชีกับเพื่อนทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และการแข่งขันในครั้งนี้พวกเราก็ตั้งใจทำข้อสอบอย่างเต็มที่ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เข้าร่วมและได้รับรางวัลและการแข่งขันครั้งนี้ทำให้ได้รู้จุดอ่อนของทีมในการทำข้อสอบ พวกเราจะได้กลับทบทวนเพื่อเตรียมตัวแข่งขันในครั้งต่อไปค่ะ"
"พลอย" นางสาวรสา เฉื่อยมณี ตัวแทนวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า "ปีที่แล้วเคยร่วมการแข่งขันแต่ไม่ได้รับรางวัล ครั้งนี้ก็เลยกลับมาลองดูอีกครั้ง ซึ่งก็ทำอย่างเต็มที่และก็ไม่ผิดหวังได้รับรางวัลกลับไปจริงๆ การสอบบัญชีครั้งนี้ได้ความรู้ความเข้าใจทางด้านบัญชีมากขึ้น มีอาจารย์ช่วยติว ช่วยสอน ทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติมจากห้องเรียน และได้เปรียบกว่าคนอื่น ถือว่าเป็นกำไรของชีวิต หวังว่าน้องๆรุ่นต่อไป อยากให้เตรียมตัวอย่างเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากๆนะคะ"
อย่างไรก็ตามการแข่งขันดังกล่าวยังเริ่มใช้แอปพลิเคชั่น (application) เป็นปีแรก ซึ่งทาง CIBA ได้พัฒนาขึ้นมารองรับการแข่งขันโดยเฉพาะ มีชื่อว่า CIBA Banchee ซึ่งนำระบบการวิเคราะห์ข้อมูลสมัยใหม่เข้ามาช่วยวิเคราะห์ทักษะทางวิชาชีพให้กับผู้เข้าร่วมแข่งขัน หลังการแข่งขันเสร็จสิ้น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลสามารถจำแนกได้ว่า นักศึกษามีจุดเด่นทางทักษะวิชาชีพด้านใดบ้าง เช่น ทักษะทางการบัญชีบริหาร การบัญชีอุตสาหกรรม การบัญชีขั้นต้น การภาษีอากรและทักษะทางวิชาชีพอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว ทางวิทยาลัยสามารถนำข้อมูลไปปรับกระบวนการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมและเพิ่มพูนให้นักศึกษา ภายในโรงเรียนมีทักษะที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ไม่ใช่แค่วัดระดับความรู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังวัดระดับของทักษะทางวิชาชีพ ในสาขาต่างๆ ทางบัญชีทั้งในระดับ ปวช. และ ปวส. อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการประมวลผลข้อมูลก็จะมีความแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ของการเรียนการสอนสมัยใหม่ผ่านเครื่องมืออย่าง iPad สำหรับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลอีกด้วย