กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 70.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 79.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 82.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- การสัมมนา World Economic Forum ที่เมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ International Monetary Fund (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ในปี พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 3.9% เท่ากัน (เพิ่มขึ้น 0.2% จากประมาณการณ์ครั้งก่อนหน้าเมื่อ ต.ค. 60) เนื่องจากการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากการลดภาษี
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ม.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน1.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 411.6 ล้านบาร์เรล ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 10 และต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 58
- International Energy Agency (IEA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันของประเทศ OECD ไตรมาสที่ 2 - ไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2560 เฉลี่ยลดลง 600,000บาร์เรลต่อวัน
- รัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak เห็นว่าปริมาณสำรองน้ำมันทั่วโลกปรับลดลง และเชื่อมั่นว่าตลาดน้ำมันจะปรับเข้าสู่สมดุลในปีนี้และรัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย นาย Khalid al-Falih กล่าวว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันเห็นพ้องต่ออายุมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันต่อไปอีกหลังจากกำหนดสิ้นสุดปี พ.ศ. 2561
- Reuters ประเมินปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากท่าส่งออกทางใต้ของอิรักช่วงวันที่ 1-21 ม.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่3.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและตลาด ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ม.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7,612สัญญา มาอยู่ที่ 549,602 สัญญา สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Baker Hughes, a GE Company (BHGE) รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (Oil Rig) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ม.ค. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 60 โดยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 12 แท่น มาอยู่ ที่ 759 แท่น
- IEA ระบุว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ Non-OPEC อาทิ สหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปีนี้ โดย IEA ประเมินปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ แคนาดาและ บราซิลจะเพิ่มขึ้นรวม 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่าปีก่อนที่ผลิตเพิ่ม 700,000 บาร์เรลต่อวัน)
- บริษัท DNV ซึ่งเป็นบริษัทประกันคุณภาพและบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเดินเรือน้ำมันและก๊าซ สำรวจความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันและก๊าซจำนวน 813 คน พบว่าร้อยละ 66 (เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในปีก่อนที่ร้อยละ 32) เห็นว่าบริษัทน้ำมันและก๊าซหลายแห่งมีแผนจะเพิ่มการลงทุนในปี พ.ศ. 2561
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดวันศุกร์เหนือระดับ 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ได้ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 และราคาเฉลี่ยรายสัปดาห์อยู่สูงกว่า 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2557 หรือช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจากระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ปัจจัยด้านการเคลื่อนย้ายของเงินทุน (Fund Flows) จากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนราคาน้ำมัน โดยนักลงทุนมีมุมมองว่าเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ฟื้นตัวจะสนับสนุนการใช้น้ำมันและให้ผลตอบแทนการลงทุน (Return on Investment) ที่สูงกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกลุ่มผู้จัดการกองทุนยังเดินหน้าเข้าถือสัญญาน้ำมันดิบ Brent และ WTIโดยสถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) ของทั้ง 2 สัญญา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้นักวิเคราะห์รายใหญ่ของโลกเริ่มมีการปรับคาดการณ์ ล่าสุดวาณิชธนกิจ JP Morgan ของสหรัฐฯ ปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยในปี พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้น 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการคาดการณ์ครั้งก่อนมาอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent อาจแตะระดับ 78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 หรือต้นไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แต่จะปรับตัวลดลงในช่วงปลายปีจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้บริษัท Sinochem ของจีน มีแผนกลับมาเปิดสำนักงานที่เมือง Houston ในสหรัฐฯ อีกครั้ง หลังจากปิดไปเมื่อ 20 ปีก่อน โดยย้ายพนักงานบางส่วนมาจากกรุง London ในสหราชอาณาจักร และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2561 โดยมองเห็นว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ จะรองรับความต้องการน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นอิสระในจีน ซึ่งสำนักงานใหม่ของ Sinochem นี้จะค้าน้ำมันดิบจากทั้งอเมริกาเหนือและใต้ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68.5 - 72.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 64.0 - 67.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ราคาน้ำมันดิบDubai อยู่ในกรอบ 65.5 – 69.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้นจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics หรือ NBS) ของจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน เดือน ธ.ค. 60 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.1 % อยู่ที่ 2.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่อุปสงค์น้ำมันเบนซินในอินเดียแข็งแกร่ง ส่งผลให้ บริษัท Reliance Industries ของอินเดียรายงานค่าการกลั่น (Refining Margin) ในไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.4 % อยู่ที่ 11.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ประกอบกับOil Industry Pipeline Coordination Secretariat ของเคนยา ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 93 RON ปริมาณ 375,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 4-6 มี.ค. 61 นับเป็นปริมาณที่สูงกว่าการออกประมูลครั้งก่อนสำหรับส่งมอบในเดือน ธ.ค. 60 เกือบ 2 เท่า ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ม.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 740,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.82 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Pertamina ของอินโดนีเซีย เผยแผนนำเข้าน้ำมันเบนซิน ในเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ 8 ล้านบาร์เรล ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 9 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ บริษัท CPC และ Formosa Petrochemical Corp. ของไต้หวันประกาศขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินทุกชนิด ในประเทศ เพิ่มขึ้น 0.90 ดอลลาร์ไต้หวัน/ลิตร (0.98 สตางค์ต่อลิตร) โดย น้ำมันเบนซิน 92 RON เป็น 27.20 ดอลลาร์ไต้หวัน/ลิตร (29.60 บาท/ลิตร) น้ำมันเบนซิน 95 RON เป็น 28.60 ดอลลาร์ไต้หวัน/ลิตร (31.13 บาท/ลิตร) และ น้ำมันเบนซิน 98 RON เป็น 30.70 ดอลลาร์ไต้หวัน/ลิตร (33.41 บาท/ลิตร) ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 78.5-82.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้น จากโรงกลั่นในเอเชียหันไปผลิตน้ำมันทำความอบอุ่น (Kerosene) แทน น้ำมันดีเซล เนื่องจากความต้องการอยู่ในระดับสูง โดยญี่ปุ่นมีแผนส่งออกน้ำมันดีเซล 0.001%S ราว 7-8 เที่ยวเรือ ในเดือน ก.พ. 61 จากที่เคยแตะระดับสูงสุด 15 เที่ยวเรือ จากภาวะอากาศหนาวจัดที่กรมอุตุนิยมวิทยา (Meteorological Agency) ของญี่ปุ่น ประกาศเตือนอุณหภูมิหนาวจัด เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี หลังอุณหภูมิกลางกรุงโตเกียว แตะระดับ -4 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 61 ประกอบกับ Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียได้รับแรงสนับสนุนจากผู้ซื้อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศรีลังกา ขณะที่อุปทานจากตะวันออกกลางมีอยู่อย่างจำกัด ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ม.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.46 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 8.88 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ม.ค. 61 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 640,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 139.8 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 81.5-85.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล