กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์
เอสซีจี ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าวเป็นเจ้าภาพจัดงาน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 – Deep Tech Innovation อย่างเป็นทางการ ชิงรางวัลเกียรติคุณพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นการแข่งขันประกวดแผนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคภาษาอังกฤษระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ของนิสิตนักศึกษา ระดับปริญญาโทจากสถาบันการศึกษาทุกสาขาวิชา ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 แต่ยังคงได้รับความสนใจอย่างมากและมีการตอบรับจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกเพิ่มขึ้นทุกปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถือเป็นความสำเร็จรวมทั้งเป็นความภาคภูมิใจของสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา Startup Ecosystem ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มีการสร้างธุรกิจจากนวัตกรรมใหม่ๆ สู่ตลาดโลก สำหรับการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการจาก เอสซีจี โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย Houston Technology Center Asia กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิคเตอร์ และ Money Channel เป็นผู้ร่วมให้การสนับสนุน
SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 – Deep Tech Innovation เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาระดับ ปริญญาโททั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แสดงศักยภาพและนำเสนอผลงานการวิจัยของตนเอง เพื่อสนับสนุนแนวคิดความ เป็นผู้ประกอบการ มุ่งหวังที่จะให้ให้นิสิตนักศึกษาได้นำความรู้วิชาการด้านการบริหารธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติเสมือนจริง และสามารถนำไปพัฒนาด้านการลงทุนได้อย่างแท้จริงและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอสซีจี ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม ผ่านความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) กับทุกภาคส่วน รวมถึงแสวงหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจร่วมกับเครือข่ายสตาร์ทอัพจากทั่วโลก สู่การตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้วยสินค้าและบริการ ให้ดีขึ้น เร็วขึ้น และคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เราจึงมองเห็นโอกาสในการร่วมขับเคลื่อนพลังความคิด และไอเดียแผนธุรกิจ ด้านนวัตกรรม Deep Tech ในการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 ในครั้งนี้ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของคนรุ่นใหม่สามารถเติบโต และต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต รวมทั้งเป็นการตอบเป้าหมายของบริษัทฯ ในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของสตาร์ทอัพอีโคซิสเท็มทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียนในระยะยาวอีกด้วย" ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ R&D Director and Emerging Businesses Director เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าว
"อีกทั้ง เอสซีจีเชื่อมั่นว่าศักยภาพของคนรุ่นใหม่และความร่วมมือกับสตาร์ทอัพจะสามารถทลายข้อจำกัด และสร้างมิติใหม่ของวงการนวัตกรรมแห่งอนาคตให้เกิดขึ้นได้จริงการแข่งขันในครั้งนี้ และหวังว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าร่วมกันในอนาคต" ดร. สุรชา กล่าวเสริม
SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 – Deep Tech Innovation ถือว่าได้รับความสนใจอย่างมาก ในปีนี้มีตัวแทน จากสถาบันการศึกษาชั้นนำเข้าร่วมแข่งขันในรอบคัดเลือกถึง 112 ทีม จาก 52 สถาบันการศึกษา ใน 16 ประเทศ จาก 4 ทวีปทั่วโลก โดยมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปสู่รอบรองชนะเลิศจำนวน 15 ทีม ประกอบไปด้วยสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลก จาก 9 ประเทศ ได้แก่ Cambridge Judge Business School, University of Cambridge สหราชอาณาจักร Middlebury Institute of International Studies at Monterey และUniversity of Oregon สหรัฐอเมริกา University of Toronto ประเทศแคนาดา Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ National Chengchi University และ National Chiao Tung University ประเทศไต้หวัน Queensland University of Technology ประเทศออสเตรเลีย S.P. Jain Institute of Management and Research ประเทศอินเดีย Universiti Teknologi Malaysia จากประเทศมาเลเซีย ร่วมด้วยสถาบันการศึกษาจากประเทศไทยได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ในรอบ Thailand Track Round มีทีมที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 7 ทีมจาก 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ โดยผู้ชนะเลิศในรอบนี้จะได้รับเงินรางวัล 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ และได้รับสิทธิ์เข้าไปแข่งขันกับ 15 ทีมในรอบรองชนะเลิศ
สำหรับรางวัลการแข่งขันปี 2561 นี้ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันจะได้รับรางวัลเกียรติคุณพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร นอกจากนี้ยังมีรางวัล H.R.H. Princess Maha Chakri Sirindhorn's Sustainability Award จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งมอบให้กับทีมที่ชนะเลิศในการแข่งขันแผนธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ
รางวัลแห่งเกียรติยศและความภาคภูมิใจ
"ถือเป็นเกียรติอันสูงส่งที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลเกียรติคุณเป็นการถาวร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา และในปีนี้ สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลเกียรติคุณ H.M. The King's Award สำหรับผู้ชนะเลิศการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2008 ในปีนี้ จากเริ่มต้นโครงการที่เราจัดการแข่งขันกันระดับภายในประเทศและภูมิภาคเอเชีย ต่อมานิสิตของเราได้คว้ารางวัลชนะเลิศสร้างผลงานจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปจนสู่ระดับโลก สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ในฐานะผู้จัดงานการแข่งขันแผนธุรกิจภาคภาษาอังกฤษ Bangkok Business Challenge จึงถือเป็นความสำเร็จรวมทั้งเป็นความภาคภูมิใจ ที่ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ผลงานการวิจัยของนิสิตนักศึกษาปริญญาโทของไทยก้าวสู่ เวทีระดับนานาชาติ" คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
15 ปีแห่งความสำเร็จและความโดดเด่นของ Bangkok Business Challenge @ Sasin
"ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Bangkok Business Challenge และร่วมอยู่ในคณะดำเนินงานตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา นับว่าการจัดการแข่งขันแผนธุรกิจภาคภาษาอังกฤษ Bangkok Business Challenge @ Sasin ประสบความสำเร็จอย่างมาก เรามีจำนวนทีมนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโท จากสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้มีตัวแทนจากสถาบันการศึกษาชั้นเข้าร่วมแข่งขันมากที่สุดถึง 112 ทีม รูปแบบของการแข่งขันแผนธุรกิจของเราอยู่ในมาตรฐานสากล เรามีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในแวดวงธุรกิจ การตลาด การลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน ตั้งแต่รอบคัดเลือกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ การประกวดในเวทีนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำแบบฝึกหัดในห้องเรียน แต่เป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปพัฒนาในเชิงธุรกิจได้จริง และที่ผ่านมามีทีมนิสิตนักศึกษาที่ผ่านการแข่งขัน ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆไปสู่ธุรกิจจริงและประสบความสำเร็จแล้วหลายทีม ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจของเอสซีจี (นำโดย AddVentures by SCG) ที่เล็งเห็นความสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาของนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ ผสมกับเทคโนโลยีดิจิตอล สร้างสตาร์ทอัพ และต่อยอดธุรกิจในเชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยืนสู่ระดับเอเชีย และสากลในอนาคต ซึ่งนี่คือความโดดเด่นของเวทีการประกวด SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 นี้" คุณคงพันธุ์ ปราโมช ณ อยุธยา ผู้ร่วมก่อตั้ง Bangkok Business Challenge @ Sasin กล่าว
"SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 การแข่งขันแผนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย สำหรับผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันนั้น ไม่ได้เป็นเพียงการแข่งขัน แต่เป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่จะออกไปเผชิญกับโลกธุรกิจจริง ทั้งสามวันของการแข่งขัน ทีมนิสิตนักศึกษาจะโดนคณะกรรมการหลายชุดคอยถามคำถามเปรียบเสมือนกำลังจะร่วมลงทุนในธุรกิจนั้นๆอย่างเข้มข้น ซึ่งจะได้ความคิดเห็นจากหลายๆมุมมอง และเป็นการช่วยปรับกลยุทธ์ทางการธุรกิจให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันนักเรียนและประชาชนทั่วไปที่เข้าชมงานก็ จะได้รู้จักกับธุรกิจ startup อย่างแท้จริงเพื่อจุดประกายความคิดและเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างตัวเองให้เป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ในอนาคตได้" คุณคงพันธุ์ กล่าวเสริม
พัฒนา ต่อยอด ลงมือทำจริง จนประสบความสำเร็จ
"ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Bangkok Business Challenge ในปี 2011 และยิ่งสร้างความภาคภูมิใจยิ่งขึ้นไปอีก คือตอนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้าน "การจุดประกายความคิด" ในการแข่งขัน The Global Entrepreneurship Summit 2016 (GES) ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นงานประชุมประจำปีของการรวมตัวผู้ประกอบธุรกิจทั่วโลก จัดโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจเพียง 150 ราย ที่ได้รับคัดเลือกจากผู้เข้าแข่งขันในปีนั้นถึง 5,000 ราย รวมผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊ค อูเบอร์ แอร์บีแอนด์บี กลูเกิ้ล รวมทั้ง นักลงทุน และองค์กรภาครัฐ โดยในปีนั้นได้รับเกียรติจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา มาเป็นประธานในงาน นอกจากรางวัลแล้วผมยังได้รับคำแนะนำการขยายธุรกิจทั่วโลกจากผู้เชี่ยวชาญซิลิคอนวัลเล่ย์ อีกทั้งได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ KIVA ซึ่งเป็นองค์กรจัดหาเงินทุนขนาดใหญ่เพื่อช่วยด้าน การลงทุนในการผลิตฟาร์มเกษตรอินทรีย์สำหรับเกษตรกรรายย่อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่วนตัวผมเชื่อว่าหัวใจสู่ความสำเร็จ – คือการมีจุดยืนและเป้าหมายที่ชัดเจน เข้าใจความต้องการของตนเองและมุ่งมั่นทำสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ สร้างเอกลักษณ์ของตนเองและไม่ลอกเลียนแบบผู้อื่น ที่สำคัญคือการดำเนินธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติ" คุณปีตาชัย เดชไกรศักดิ์ ศิษย์เก่าสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด ผู้ผลิตข้าวแจสเบอร์รี่ กล่าว
ประวัติความเป็นมาของการแข่งขัน
รศ.ดร. อดิทธิ์ เชี่ยวสกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของโครงการ Bangkok Business Challenge @ Sasin ว่า "โครงการ Bangkok Business Challenge (BBC) เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2545 หรือ ค.ศ. 2002 โดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจจัดการประกวดแผนธุรกิจภาคภาษาอังกฤษระดับบัณฑิตขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันฯ และครบรอบ 15 ปี แห่งการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจะเป็นนิสิตนักศึกษาระดับมหาบัณฑิต สาขาการบริหารธุรกิจ จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อมุ่งหวังให้การประกวดนี้เป็นเวทีประลองความสามารถของนิสิตนักศึกษาของประเทศไทย ที่จะได้นำความรู้วิชาการด้านการบริหารธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติเสมือนจริง และสามารถนำไปพัฒนาด้านการลงทุนอย่างแท้จริงได้ในอนาคต โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับ "รางวัลเกียรติคุณพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9" เพื่อเป็นเกียรติยศและความภาคภูมิใจให้แก่นิสิตนักศึกษาเหล่านั้น และใช้ชื่อการแข่งขันว่า Bangkok Business Challenge ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากความมุ่งหวังเพียงเพื่อให้การประกวดนี้เป็นเวทีที่นิสิตนักศึกษาของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ได้แสดงศักยภาพและแสดงนำผลงานการวิจัยของตนเอง ซึ่งต่อมาผลงานเหล่านี้มีนักธุรกิจ นักลงทุนได้นำไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจได้จริง จึงทำให้ Bangkok Business Challenge @ Sasin ได้รับความสนใจมีตัวแทนนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมประกวดมากขึ้น จากเวทีระดับประเทศไปสู่การแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียและก้าวสู่การแข่งขันระดับโลกภายในปี พ.ศ. 2551 ด้วยระยะเวลาเพียง 7 ปี และได้จัดการแข่งขันขึ้น อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2550 ได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai–market for Alternative Investment) แทนหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จึงได้เปลี่ยนชื่องานเป็น "The mai Bangkok Business Challenge @ Sasin" และในปีพ.ศ. 2560 ทางเอสซีจี ได้เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการในการจัดการประกวดแทนเอ็มเอไอเราจึงใช้เปลี่ยนชื่องานว่า "SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 นอกจากนี้เรายังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารเกียรตินาคิน (ซึ่งปัจจุบันคือกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร) Houston Technology Center Asia วิคเตอร์ และ Money Channel ที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอดนับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของโครงการและยังคงต่อเนื่องมาถึงในปีปัจจุบัน"
งาน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 – Deep Tech Innovation จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8–10 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://bbc.sasin.edu หรือ bbc@sasin.edu