กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การท่องเที่ยว ถือเป็นอุตสาหกรรมประเภทการให้บริการ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม ร้านขายของที่ระลึก ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานในระดับต่างๆ รวมถึงการลงทุน ดังนั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับหนึ่ง และเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักที่ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ การท่องเที่ยวในแต่ละภาคของประเทศไทย มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป อาทิ การท่องเที่ยวในภาคใต้ ที่มีภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรระหว่างทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย หรืออ่าวไทย เกือบทุกจังหวัดที่มีเขตติดกับทะเล ยกเว้นยะลา เป็นจังหวัดเดียวที่ไม่ติดกับทะเล
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวในจังหวัดทางภาคใต้เป็นจำนวนมาก สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าปี 2559 มีนักท่องเที่ยวกว่า 36 ล้านคน สร้างรายได้เข้าภูมิภาคกว่า 692,000 ล้านบาท อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มสูงขึ้น จากนักท่องเที่ยว รัสเซีย จีน และยุโรป ที่สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารทั้งในและระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย นอกจากนี้ ยังมีเรือสำราญขนาดใหญ่เข้ามาเทียบท่าที่ภูเก็ต ทำให้การท่องเที่ยวยิ่งคึกคักมากขึ้น
ดังนั้นการพัฒนาทักษะให้กับคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ยิ่งมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้น เพื่อเป็นเจ้าบ้านที่ดี และสอดรับกับนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงแรงงานภายใต้การนำของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยในปี 2561 มีเป้าหมายฝึกทักษะให้กับแรงงานกลุ่มท่องเที่ยวและบริการกว่า 19,000 คน ซึ่งหน่วยงานของกพร.ในเขตภาคใต้ ต่างเร่งดำเนินการพัฒนาทักษะให้กับแรงงาน ทั้งกลุ่มพนักงานในโรงแรม ผู้ประกอบการร้านอาหาร แรงงานที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระ โดยเน้นฝีมือต้องได้มาตรฐาน อาทิ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต (สพร.) ดำเนินการฝึกอาชีพสาขา ผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 2 จำนวน 18 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 22 - 24 มกราคม 2561 หลังจากฝึกเสร็จสิ้น จะดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติด้วย เพื่อเป็นการการันตีฝีมือ ผู้ผ่านการฝึกและทดสอบมาตรฐานกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่นำความรู้ไปประกอบอาชีพอิสระ เปิดร้านขายอาหารเพื่อบริการนักท่องเที่ยว อีก 2 สาขาที่คือ สาขา เทคนิคการให้บริการไวน์ และสาขาเทคนิคการควบคุมต้นทุนด้านอาหารและเครื่องดื่ม ให้กับพนักงานในกลุ่มผู้ประกอบกิจการด้านโรงแรม รวมผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 120 คน
เช่นเดียวกับ สนพ.พังงา จัดฝึกอบรมสาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก(หัตถบำบัด) จำนวน 2 รุ่น ระยะเวลา 280 ชั่วโมง มีประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าฝึกรวม 40 คน ระหว่างวันที่ 10 มกราคม – 7 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์ฝึกอบรมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันดามัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยจ่าเอกประยงค์ บุญช่วย ผู้อำนวยการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องการเพิ่มศักยภาพแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งเสริมให้แรงงานในพื้นที่มีงานทำ นอกจากนี้ได้วางแผนฝึกอบรมสาขา ครัวไทยสู่ครัวโลก ภาษาต่างประเทศ เทคนิคการสอนงาน เทคนิคการบริการไวน์ E-Commerce และรวมถึงสาขาอื่น ๆ โดยใช้ ศูนย์ฝึกอบรมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันดามัน เป็นศูนย์รวมการฝึกในเขตนี้ด้วย โดยจะเร่งดำเนินการป้อนตลาดในฤดูการท่องเที่ยวนี้