กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--สมาร์ท วิน
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกาศความพร้อมในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก ภายหลังปี พ.ศ. 2563 หรือที่เรียกว่า การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก
ร้อยละ 20 – 25 จากกรณีดำเนินการปกติ (Business As Usual) ภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อสอดรับกับความร่วมมือกับนานาประเทศในการควบคุมการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส
นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "นับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ได้ขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งรายงานแห่งชาติ (NC) รายงานความก้าวหน้ารายสองปี (BUR) และได้มีการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563 คือ การดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA) และล่าสุดได้มีการกำหนดการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) โดยมีการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ที่ร้อยละ 20-25 จากกรณีดำเนินการปกติ ภายใน ปี พ.ศ. 2573 ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่กำหนดไว้ สผ. ได้จัดทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 ใน 3 สาขาหลัก ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพฅในการลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ 1) สาขาพลังงานและขนส่ง
2) สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และ 3) สาขาการจัดการของเสีย โดยแบ่งเป็นมาตรการในสาขาพลังงานและขนส่ง 9 มาตรการ มาตรการในสาขาการจัดการของเสีย 4 มาตรการ และมาตรการในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 2 มาตรการ รวมทั้งสิ้น 15 มาตรการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อแผนที่นำทางฯ แล้ว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกในแต่ละสาขา เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศกำหนดไว้ และ สผ. อยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการรายสาขา โดยครอบคลุมข้อจำกัดและความต้องการสนับสนุน ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอต่อระดับนโยบายให้ความเห็นชอบต่อไป"
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า "เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตาม แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
ปี พ.ศ. 2564 – 2573 หรือ NDC Roadmap นั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหลักที่มีบทบาทและภารกิจโดยตรง ในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC Roadmap ดังนี้
- การพัฒนากลไกสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก อาทิเช่น โครงการ T-VER และ โครงการ LESS เป็นต้น
- การพัฒนาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชนในการดำเนินกิจกรรมที่สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ การซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับท้องถิ่น
- การเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก
- การพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ CITC
- ตลอดจน ภารกิจในการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับนโยบาย ร่วมกับ สผ. และหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น กฟผ. เป็นต้น"
นายกฎชยุตม์ บริบูรณ์จตุพร รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "กฟผ.ในฐานะเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงานรับผิดชอบตามมาตรการด้านการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งสนับสนุนมาตรการผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานทดแทน มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในครัวเรือน และอื่นๆที่มีศักยภาพในการดำเนินงานตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศถึง 43 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้นสาขาพลังงานเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายของ แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 โดยมีการดำเนินการ คือ เน้นการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน และส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนาโครงข่าย (Smart Grids) ให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ เป็นต้น"
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้เกิดผลต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยเริ่มต้นจากการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักของประชาชนต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเตรียมความพร้อมด้านการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่วีถีการดำเนินชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ โดยควรมีการจัดทำแผน/ยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในแบบวิถีคาร์บอนต่ำ อาทิ อาคารอนุรักษ์พลังงาน ระบบเชื่อมต่อขนส่งมวลชน การงดการใช้ถุงพลาสติก หรือการช่วยกันปลูกต้นไม้ เป็นต้น
ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA)
ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ครั้งที่ 16 ได้มีข้อตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMAs) โดยเชื้อเชิญให้ประเทศกำลังพัฒนาแสดงเจตจำนงการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศโดยความสมัครใจมายังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ เพื่อแสดงถึงความตั้งใจที่จะดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMA) บนพื้นฐานการดำเนินการโดยสมัครใจ โดยระบุว่า "ประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ร้อยละ 7 ถึง 20 ในภาคพลังงานและภาคการขนส่งให้ต่ำกว่าระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงานตามปกติ (Business as usual: BAU) ในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) โดยระดับการดำเนินงานนั้นจะขึ้นกับระดับการได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศในด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเงิน และการเสริมสร้างศักยภาพ"
ข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 19 ได้มีข้อตัดสินใจในการเชิญชวนภาคี ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เตรียมการเกี่ยวกับการเสนอ Intended Nationally Determined Contributions (INDC) ซึ่งเป็นการแสดงข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานในความตกลงปารีส โดยประเทศไทยได้จัดส่ง INDC ไปยังสำนักเลขาธิการ UNFCCC เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยระบุว่า "ประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ระดับของการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงกลไกการสนับสนุนทางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเงิน และการเสริมสร้างศักยภาพที่เพิ่มขึ้นและเพียงพอ" รวมทั้งได้ระบุความตั้งใจในการมีส่วนร่วมด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย ซึ่งเมื่อความตกลงปารีสมีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 แต่ละภาคีต้องจัดทำ แจ้ง และจัดให้มีการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) อย่างต่อเนื่อง โดยแจ้งทุกๆ 5 ปี ซึ่งจะแสดงถึงความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่เป็นไปได้สูงสุด ตามหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศ (common but differentiated responsibilities and respective capabilities, in the light of different national circumstances) "Intended Nationally Determined Contribution: INDC" จึงถูกเปลี่ยนเป็น "Nationally Determined Contribution: NDC" ในการแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020