กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--ม.มหิดล
ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความร่วมมือกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และองค์กรเอกชน ได้จัดโครงการ “พฤกษาดุริยางค์เฉลิมพระเกียรติ” ปลูกป่าซึ่งเป็นต้นไม้ที่ใช้ทำเครื่องดนตรี บนพื้นที่ ๑๐ ไร่ ล้อมรอบอาคารห้องซ้อมดนตรีหลังใหม่ เพื่อให้ประชาชน เยาวชน และบุคคลทั่วไปได้ศึกษา ภายใต้แนวคิดและปรัชญาที่ว่า “ต้นไม้หนึ่งต้นเปรียบเสมือนครูที่สำคัญหนึ่งคน ป่าไม้ประดุจมหาวิทยาลัย” ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ ต้นไม้ให้ความร่มรื่น ให้ความอบอุ่น และให้ชีวิต
สำหรับไม้ดนตรีที่จะปลูกในโครงการพฤกษาดุริยางค์เฉลิมพระเกียรติ มีจำนวนประมาณ ๑,๕๐๐ ต้น จาก ๖๑ ชนิด ได้แก่ ไม้ชิงชัน (ใช้ทำเลาปี่, เลาขลุ่ย, ผืนระนาดเอก, ผืนระนาดทุ้ม, โปงลาง, กระบอกซอด้วง,คันซอ, และคันชักซอด้วง, ซออู้, สะล้อ, กรับเสภา เป็นต้น), ไม้สัก (ใช้ทำรางระนาด, ร้านฆ้องมอญ, กระจับโหม่ง, พิณ, ซึง, ดากขลุ่ย เป็นต้น), ไม้ประดู่ (ใช้ทำเลาปี่, ขลุ่ย, คลาริเนต, ฟลูท, ซอ, หุ่นกลองต่าง ๆ เป็นต้น), ไม้ขนุน (ใช้ทำจะเข้, หุ่นกลองประเภทต่าง ๆ เป็นต้น), ไม้มะค่า (ใช้ทำเลาปี่ คลาริเนต, ฟลูท, ซอ, ระนาด เป็นต้น), มะพร้าว (กะลาใช้ทำกะโหลกซอสามสาย, ซออู้, สะล้อ, พิณเปี๊ยะ เป็นต้น), ไม้มะหาด (ใช้ทำผืนระนาด, คันซอ, โปงลาง เป็นต้น), ไม้มะฮอกกานี (ใช้ทำเปียโน ,เลาปี่, ขลุ่ย เป็นต้น), ไม้ตะเคียน (ใช้ทำเลาปี่, ขลุ่ย, คลาริเนท, ฟลูท, ระนาด, ซอ เป็นต้น), ไม้งิ้วดำ (ใช้ทำเลาขลุ่ย, ปี่ เป็นต้น), ไม้ไผ่บง (ใช้ทำผืนระนาดเอก ผืนระนาดทุ้ม ใช้ทำเกราะ โกร่ง) เป็นต้น ในพื้นที่ของโครงการพฤกษาดุริยางค์เฉลิมพระเกียรติ มีทางเดินกว้าง ๒ เมตร ตอกเสาเข็มรองพื้น ยกพื้นประมาณ ๔๐ ซ.ม. ปูพื้นคอนกรีตเป็นฐาน และปูทับด้วยไม้ระแนงรอบๆ พื้นที่ เพื่อให้ผู้คนได้เดินชมสวนต้นไม้ และประติมากรรมหิน มีทางเข้า-ออก ๓ ทาง พร้อมทางรถเข็นสำหรับคนพิการ กลางพื้นที่ป่าเป็นสนามหญ้าเพื่อให้ผู้คนที่อยู่ในป่ามีพื้นที่ว่าง โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วางแผนจัดกิจกรรมในป่าพฤกษาดุริยางค์ในอนาคต อาทิ นิมนต์พระสงฆ์จำนวน ๔๐๐ รูป มาสวดมนต์ในช่วงวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ การแสดงคอนเสิร์ตนานารูปแบบ กิจกรรมตีเกราะเคาะไม้ ฯลฯ
พฤกษาดุริยางค์ เป็นพิพิธภัณฑ์ต้นไม้ที่มีชีวิต ปลูกต้นไม้ที่ยังเป็นต้นไม้ ก่อนที่จะมาเป็นเครื่องดนตรี พัฒนาพื้นที่ดนตรีให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย และชุมชน มหาวิทยาลัยมหิดลขอเชิญชวนทุกท่านเป็นผู้อุปถัมภ์ในโครงการฯ โดยร่วมทำบุญต้นไม้ดนตรีขนาดเล็ก ต้นละ ๓,๐๐๐ บาท ต้นไม้ดนตรีขนาดใหญ่ ต้นละ ๕,๐๐๐ บาท ช่วยค่าดูแลต้นไม้(ต่อปี) ต้นละ ๑,๐๐๐ บาท หรือบริจาคสมทบทุนซื้อปุ๋ยดูแลต้นไม้ตามกำลังศรัทธา โดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ สาขาย่อยมหาวิทยาลัยมหิดล บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี ๓๓๓-๒-๑๐๘๒๒-๑ แล้วส่งโทรสารใบนำฝากถึง คุณกัญญารัตน์ ศิริพันธ์ ที่หมายเลข ๐-๒๘๐๐-๒๕๓๐ สอบถามรายละเอียดโทร. ๐-๒๘๐๐-๒๕๒๕ ต่อ ๑๑๕