กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--สำนักงาน กปร.
การพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับการน้อมนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลทุกรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการดำเนินงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่องและเพิ่มพูนขึ้น อีกทั้งรัฐบาลปัจจุบัน ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาประเทศทุกด้านโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( สำนักงาน กปร. ) เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 1 ในภาคการเกษตรและชนบท โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การศึกษาและขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของสำนักงาน กปร. ตลอดจนศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อที่จะส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และกลยุทธ์หนึ่งที่จะบรรลุเป้าหมาย คือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อขับเคลื่อนแนวพระราชดำริ โดยจัดฝึกอบรมบุคลากรผู้เป็นเครือข่ายเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในลักษณะองค์รวมของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำเสนอความรู้ ประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมารวบรวมเป็นองค์ความรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและติดตามประเมินผลการดำเนินการ
สำนักงาน กปร. ได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาองค์ความรู้และเสริมสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พพร.) มาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2560 ที่ผ่านมา
ได้ดำเนินการเป็นรุ่นที่ 6 โดยมีผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมอบรม จำนวน 50 คน เมื่อจบหลักสูตรผู้เข้ารับการอบรมได้ร่วมกันนำความรู้ ความเข้าใจ จากการฝึกอบรมและการศึกษาดูงานจัดโครงการเพื่อส่งเสริมขับเคลื่อนขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่ตำบลอ้อมเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
นางสาวดลพร กระจ่างฉาย ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลอ้อมเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี หนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร พพร. รุ่นที่ 6 เปิดเผยว่า โครงการนี้นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก ทำให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องพระราชดำริ และหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติใช้และนำไปเผยแพร่ในองค์กรของตัวเองได้เป็นอย่างดี โดย พพร. รุ่นที่ 6 ได้เลือกลงพื้นที่ตำบลอ้อมเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในการรักษาสืบสาน และสานต่องานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งนี้ได้ปรึกษากับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ้อมเกร็ดเพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมขับเคลื่อนและขยายผล สำหรับชุมชนแห่งนี้มีความเหมาะสมและน่าสนใจในด้านบริบทของชุมชนที่มีลักษณะเป็นกึ่งเมืองกึ่งชนบท ซึ่งมีทั้ง 2 วิถีชีวิตอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัวที่สำคัญพื้นที่แห่งนี้เมื่ออดีตเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สร้างผลผลิตมีชื่อเสียงให้กับประเทศ โดยเฉพาะผลไม้อย่าง ทุเรียนเมืองนนท์ แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีการจัดสรรพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย เป็นหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมีเนียม โรงงานอุตสาหกรรม และสถานประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรลดลง ในขณะที่ธุรกิจต่าง ๆ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง การขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสถานบริการสุขภาพกลับมีเพิ่มขึ้น นับเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเป็นแหล่งสร้างรายได้ของประชาชนที่อพยพมาจากทุกภาคของประเทศ ยังผลให้ชุมชนต้องมีการปรับตัวและทำความเข้าใจกันระหว่าง ชาวเมืองกับชาวชนบท เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ เช่น ผู้อยู่อาศัยในบ้านจัดสรร ก็ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีการนำพื้นที่ว่างบริเวณรอบบ้านมาทำการเกษตรเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ในส่วนพื้นที่ผู้อยู่อาศัยในรูปแบบชนบทแบบดั่งเดิม ได้มีการพัฒนาวิถีชีวิตทั้งประจำวันและการประกอบอาชีพด้วยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้เช่นกัน
สำหรับการดำเนินกิจกรรมนั้นทาง พพร.6 ได้จัดการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชมชน ประชาชน และเยาวชน ให้มาเข้าร่วมโครงการ โดยกำหนดเป้าหมาย 120 คน เน้นไปทางผู้นำชุมชน ประชาชน และเยาวชนภายในชุมชน
"ชาวบ้านส่วนมากยังไม่ทราบว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเข้ามาอบรมก็ได้รับรู้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งแนวคิดและการปฏิบัติ ซึ่งตัวแทนจาก พพร.6 ได้นำไปถ่ายทอดเพื่อให้ทราบว่า ทุกคนสามารถน้อมนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอน การดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว ใช้จ่ายให้พอเพียงต้องทำอย่างไรไม่ต้องเป็นคนร่ำรวย ครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง หรือและผู้มีรายได้น้อยก็สามารถที่จะพอเพียงได้ " นางสาวดลพร กระจ่างฉาย กล่าว
ทางด้าน นายนภดล แก้วสุพัฒน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ้อมเกร็ด ผู้นำในชุมชนได้เปิดเผยว่า
เมื่อผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร พพร. รุ่นที่ 6 ได้มาขอใช้พื้นที่ในการส่งเสริมและขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในฐานะที่เป็นผู้บริหารของท้องถิ่น เห็นว่าผู้ที่มาอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างก็มีความรู้และความเข้าใจในหลักการ และแนวทางในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง
"ได้มีการจัดกิจกรรมในเรื่องการดูแลสุขภาพของชุมชน การจัดสรรพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่ให้ได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด ทั้งในบ้านจัดสรรที่อยู่ในเมือง และในส่วนที่เป็นสวนแบบชนบทซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของชาวบ้าน ก็ได้นำความรู้ในเรื่องของการปลูกผักปลอดสารพิษเข้ามาขยายผลในพื้นที่ สอนการทำบัญชีครัวเรือน การแนะแนวทางของการประหยัดและอดออม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำในพื้นที่ การบำบัดน้ำเสีย ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนเป็นอย่างยิ่ง" นายนภดล แก้วสุพัฒน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ้อมเกร็ด กล่าว
สำหรับตำบลอ้อมเกร็ดมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตอำเภอปากเกร็ด โดยมีคลองบางบัวทองซึ่งมีลักษณะคดเคี้ยวคล้ายถุงที่ปากคลองล้อมรอบ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,900 ไร่ สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยแม่น้ำลำคลองไหลผ่านหลายสาย พื้นที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม อาชีพหลักของชุมชน คือ ทำนา ทำสวน และค้าขาย จึงนับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ภายใต้การประยุกต์วิธีการดำเนินการตามบริบทของสังคมที่แตกต่างกันแต่สามารถดำเนินการแบบควบคู่กันกันได้อย่างลงตัว