กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผย 3 แนวทางรักษาเสถียรภาพกองทุนชราภาพ โดยขยายอายุเกษียณ ปรับเพิ่มเงินสมทบเป็นช่วงๆ และปรับนโยบายการลงทุน เพื่อแก้ปัญหาเงินกองทุนชราภาพจะหมดลงในปี 2590 หากยังคงเก็บเงินสมทบฝ่ายละ 3% ตลอดไป
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ปัจจุบัน สปส.จัดเก็บเงินสมทบในอัตรา 5% จากนายจ้าง ผู้ประกันตน และรัฐบาล เพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี และในจำนวนนี้ 3% เป็นเงินสมทบสำหรับกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ โดยกำหนดระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ ขั้นต่ำที่มีสิทธิรับบำนาญ คือ 15 ปี หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 15 ปี จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ ตามจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างและผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน พร้อมกับดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ผู้ประกันตนจะรับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพได้เมื่อมีอายุ 55 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป และต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
เลขาธิการฯ เปิดเผยว่า ปี 2557 เป็นปีแรกที่ สปส.จะเริ่มจ่ายบำนาญกรณีชราภาพ โดยจะได้รับบำนาญตามสูตร 20% + 1.5% คือ หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 15 ปี จะได้รับบำนาญในอัตรา 20%ของค่าจ้างเฉลี่ย 5 ปีสุดท้าย และหากจ่ายเงินสมทบเกิน 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1.5% สำหรับจำนวนปีที่จ่ายเงินสมทบเกินจาก 15 ปี เช่น หากจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 20 ปี จะได้รับบำนาญในอัตรา 20% + 7.5% (5 ปี ๆละ 1.5%) เท่ากับ 27.5% ของค่าจ้างเฉลี่ย 5 ปีสุดท้าย
สปส.คาดว่าจะมีผู้รับบำนาญชราภาพในปี 2557 จำนวน 6,300 คน เป็นเงิน 230 ล้านบาท และรับบำเหน็จชราภาพจำนวน 150,400 คน เป็นเงิน 12,700 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 1 ล้านล้านบาท ผู้รับบำนาญชราภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2581 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.13 ล้านคน เป็นเงินบำนาญกว่า 8 แสนล้านบาท และในปี 2581 นี้จะเป็นปีแรกที่รายรับจะไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเงินกองทุนสะสมมาใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกจำนวนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยมีเงินกองทุนสะสมคงเหลือ 7 ล้านล้านบาท และหลังจากปี 2581 เป็นต้นไป เงินกองทุนจะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งคาดว่าจะหมดไปในปี 2590 (หากยังคงจัดเก็บเงินสมทบฝ่ายละ 3% ตลอดไป)
อย่างไรก็ตาม สปส.ได้ศึกษาวิเคราะห์สถานะของกองทุนชราภาพอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด รวมทั้งขอความร่วมมือทางวิชาการจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว โดยมี 3 แนวทางในการยืดอายุกองทุนชราภาพให้มีเสถียรภาพ ดังนี้
แนวทางแรก : ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายอายุผู้ที่มีสิทธิรับบำนาญเพิ่มขึ้นจาก อายุ 55 ปี เพื่อให้ผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปยังคงอยู่ในระบบการจ้างงานและจ่ายเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งจะทำให้กองทุนมีอายุยืนยาวขึ้น รวมทั้งผู้ประกันตนก็จะได้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้นด้วย
แนวทางที่สอง : ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบเป็นช่วงๆ ก่อนที่กองทุนเริ่มมีแนวโน้มลดลง ซึ่งพบว่าหากปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างอีกฝ่ายละ 1.6% ของค่าจ้างทุกๆ 10 ปี เริ่มจากปี 2563 จะสามารถทำให้กองทุนมีเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายไปจนถึงปี 2643 (อีก 93 ปีข้างหน้า)
แนวทางที่สาม : ให้ความสำคัญกับการบริหารการลงทุนระยะยาว (Long Term Investment) โดยปรับนโยบายการลงทุน เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนที่สูงสุดภายใต้ความเสี่ยงน้อยที่สุด เนื่องจากเงินกองทุนชราภาพเป็นเงินออมจำนวนมาก ดังนั้นผลตอบแทนจากการลงทุนจึงถือเป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญอย่างมากต่อความอยู่รอดของกองทุน