ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ “ธนาคารทิสโก้” ที่ระดับ “A/Stable”

ข่าวทั่วไป Friday November 9, 2007 08:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหาร การกระจายแหล่งรายได้ที่ไม่ได้พึ่งพิงรายได้ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและความสามารถในการเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และการดำรงความสามารถในการทำกำไร อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงประโยชน์ระยะยาวจากการเป็นธนาคารพาณิชย์ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการที่ธนาคารมีสาขาและเครือข่ายที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และความไม่แน่นอนของปัจจัยทางเศรษฐกิจและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของธนาคารอันอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งในระยะปานกลางเนื่องจากการเป็นธนาคารพาณิชย์จะส่งผลดีในแง่ของการดำเนินธุรกิจที่มีขอบเขตกว้างขวาง รวมทั้งจะช่วยให้มีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินที่ดีขึ้น โดยที่ระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีของธนาคารจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารทิสโก้มีขนาดของสินทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 12 ในบรรดาธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบทั้ง 14 แห่ง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาด 1.4% และมีพอร์ตสินเชื่อในสัดส่วน 79% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งเป็นการเติบโตในอัตราคงที่ดังจะเห็นได้จากอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ 18% ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจการเงินกว่า 30 ปีทำให้ธนาคารสามารถสร้างคณะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ การที่ธนาคารมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีและมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ยาวนานภายใต้แนวการบริหารแบบอนุรักษ์นิยมได้ผลักดันให้ธนาคารสามารถขยายสินทรัพย์ไปสู่ธุรกิจที่ธนาคารมีความชำนาญ ธนาคารได้กระจายฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยไปยังธุรกิจหลักทรัพย์และการบริหารกองทุน โดยในครึ่งแรกของปี 2550 สัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยต่อรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ในอัตรา 78:22
ธนาคารได้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีมาโดยตลอดเพื่อบริหารคุณภาพสินทรัพย์ ดังจะเห็นได้จากการที่ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน (ต่ำกว่ามาตรฐาน, สงสัย, สงสัยจะสูญ) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ระดับ 3.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับ 9.35% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 14 แห่ง นอกจากนี้ ธนาคารยังมีอัตราสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับต่ำ (สินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน, ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้, สินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 0.5 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารซึ่งต่ำกว่าระดับ 0.9 เท่าของค่าเฉลี่ยของธนาคารทั้ง 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 เนื่องจากธนาคารมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีจึงทำให้ธนาคารสามารถยื่นใบสมัครต่อธนาคารแห่งประเทศไทยโดยใช้วิธี IRB ในการเตรียมตัวเข้าสู่ BASEL II
ธนาคารได้ลงทุนระบบเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2548 และมีนโยบายการขยายสู่ฐานลูกค้ารายย่อยโดยธนาคารจะใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าของบริษัทต่างๆ ในเครือ รวมถึงการให้บริการทางการเงินใหม่ๆ ทั้งนี้
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ธนาคารเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2548 หลังจากยกระดับสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ การออกบริการบัตร ATM (Online Retail Fund Transfer -- ORFT, ATM Buffet Withdrawal) นวัตกรรมการฝากเงินใหม่ๆ (Tiered Rate Savings Account and Tax-free Recurring Deposits), TISCO Direct Card -- All in 1 (Electronic Slip for Deposits and Withdrawal, ATM Cards) การบริการชำระค่าสินค้าและบริการที่ไปรษณีย์ (Pay at Post) และสินเชื่อเอนกประสงค์สำหรับลูกค้าใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้แผนในการเพิ่มลูกค้ารายย่อยจะช่วยให้ธนาคารมีฐานลูกค้ารายย่อยเพิ่มมากขึ้นและสามารถระดมเงินฝากด้วยต้นทุนที่ต่ำลงในอนาคต ทริสเรทติ้งกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ