กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--สำนักงาน กปร.
เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปยังโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและบังเกิดประโยชน์กับราษฎร
โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริไว้ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2533 ให้ดำเนินการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่โดยการขุดสระน้ำ ปลูกป่า ส่งเสริมอาชีพพร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดหาที่ดินเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ โดยเน้นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรได้อาศัยทำกินร่วมกับการคงอยู่ของธรรมชาติอย่างเกื้อกูลกัน พร้อมกับพระราชทานชื่อโครงการว่า "โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"
นายพจน์ สูตรอุดม ราษฎร หมู่ที่ 5 ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดแนวทางการประกอบอาชีพที่ยึดภูมิประเทศเป็นแนวทางสำคัญในการทำการผลิต และเป็นเกษตรกรขยายผลของโครงการฯ เปิดเผยว่า เดิมปลูกผักแบบปลอดสารพิษนำผลผลิตไปจำหน่ายภายในชุมชน แต่มีปัญหาเรื่องน้ำในการทำการเพาะปลูกไม่เพียงพอ ทางโครงการฯ ได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับพื้นที่โดยให้เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อนำไข่ไปจำหน่ายสร้างรายได้ ปัจจุบันประสบความสำเร็จมีรายได้ดีกว่าการปลูกผักอย่างเดียว ปีหนึ่งมีรายได้ประมาณ 360,000 บาท
"โครงการฯ นี้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจากแต่ก่อนประมาณ 80-90 % ก็ขอขอบคุณโครงการฯ ที่ได้มาส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไข่ไก่แก่เกษตรกรในพื้นที่ ทำให้ชีวิตมีความมั่นคง ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอย่างมีความความสุข และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก" นายพจน์ สูตรอุดม กล่าว
สำหรับโครงการห้วยองคตฯ มีพื้นที่ดำเนินการประมาณ 20,625 ไร่ ภายในโครงการฯ มีอ่างเก็บน้ำพร้อมระบบส่งน้ำจำนวน 5 แห่ง ราษฎรในพื้นที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งด้านที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพอนามัย และได้รับการบริการด้านความรู้ในการทำการผลิต และการตลาดในผลผลิตจากภาครัฐอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ราษฎรในชุมชนยังได้ให้ความร่วมมือกับโครงการฯ ในการฟื้นฟูอนุรักษ์และบริหารจัดการป่าไม้ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4,030 ไร่ ให้เป็นป่าที่มีความสมบูรณ์ไม่มีการบุกรุกและทำลาย ในรูปแบบป่าชุมชนที่ราษฎรในพื้นที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในการหาของป่ามาบริโภคและจำหน่ายสร้างรายได้ ที่สำคัญจากความร่วมมือดังกล่าวยังส่งผลให้สภาพพื้นที่มีความชุ่มชื้น ปริมาณน้ำใต้ดินไม่ลึกจนเกินไป ทำให้พืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างดี ตลอดถึงมีปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอตลอดทั้งปีในทุกฤดูกาล
ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจโดยทั่วไปได้เข้ามาศึกษาดูงาน และนำความรู้ไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานทั้งในพื้นที่แปลงสาธิตของโครงการฯ และในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเกษตรกรตัวอย่างที่ทางโครงการฯ ได้เข้าสนับสนุนและขยายผล มากกว่า 6,200 คน นับเป็นโครงการฯ ที่สร้างประโยชน์มหาศาลที่เกิดการพัฒนาทั้งด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการ พร้อมก่อเกิดทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และแหล่งน้ำที่มีความความอุดมสมบูรณ์ ทั้งคนและป่าสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างเกื้อกูล และเกิดการพัฒนาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ตามแนวพระราชดำริให้มีความยั่งยืนสืบไป