ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2550 (ตุลาคม 2549 — กันยายน 2550)

ข่าวทั่วไป Monday October 8, 2007 17:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ได้แถลงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2550 (ตุลาคม 2549 - กันยายน 2550) บรรลุผลเกินเป้าหมาย โดยจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 25,600 ล้านบาท และสูงกว่าปีงบประมาณ 2549 จำนวนถึง 105,912 ล้านบาท
รายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2550
รายได้รัฐบาลจัดเก็บได้รวม 1,445,600 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,420,000 ล้านบาท จำนวน 25,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากได้รับรายได้พิเศษจากการยุบเลิกทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน 36,951 ล้านบาท
นอกจากนี้ หากย้อนไปดูที่เคยคาดการณ์ไว้ จำนวน 1,390,000 ล้านบาท (ซึ่งใช้เป็นฐานในการทำประมาณการรายได้ปีงบประมาณ 2551) ก็จะสูงกว่า 55,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 และแม้แต่ตัดรายได้พิเศษจากการยุบเลิกทุนรักษาระดับฯ ออกแล้ว การจัดเก็บรายได้จะเท่ากับ 1,408,649 ล้านบาท ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ 18,649 ล้านบาท (ร้อยละ 1.3) ทั้งนี้ โดยที่รายได้จาก 3 กรมจัดเก็บสังกัดกระทรวงการคลังก็ยังสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 26,242 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 ส่วนการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการและปีที่แล้วมากพอสมควร จำนวน 13,479 และ 8,964 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะเดียวกันก็ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้
เมื่อพิจารณาจากการจัดเก็บรายได้ของปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ภาวะการจ้างงานของประเทศก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยพิจารณาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากเงินเดือน (ภงด 1) ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 8.5 การทำธุรกิจค้าขายระหว่างกันโดยดูจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากการรับจ้างทำของ และการให้บริการระหว่างภาคธุรกิจยังมีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีที่ประมาณร้อยละ 5.9 และการจับจ่ายใช้สอยในประเทศก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแม้จะไม่สูงเหมือนในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากผลการจัดเก็บภาษีการบริโภคโดยรวม ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสินค้าประเภทต่างๆ ซึ่งอัตราการขยายตัวเทียบกับปีก่อนยังมีการขยายตัวในระดับหนึ่ง ยกเว้นกรณีภาษีรถยนต์ที่มีการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีปีนี้ ได้แก่
(1) การแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งทำให้มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 4.2 แม้ปริมาณการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.4 และการนำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 6.3 ก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทจึงส่งผลกระทบต่อภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เก็บจากการนำเข้าสินค้าประเภทต่างๆ และกระทบต่ออากรขาเข้าเอง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีการส่งออกเป็นธุรกิจหลักก็ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่เป็นเงินบาทที่ลดลง
(2) สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง และดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อน มีผลกระทบต่อการลงทุน และการบริโภคสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าคงทน เช่น เครื่องจักร ภาษีรถยนต์ เป็นต้น ทำให้ภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าดังกล่าวชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด
(3) การกันสำรองของสถาบันการเงินเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชี IAS 39 มีผลทำให้กำไรที่ต้องเสียภาษีของระบบสถาบันการเงินโดยรวมลดลง ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล
รายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2551
ประมาณการรายได้รัฐบาล 2551 ตั้งไว้ 1,495,000 ล้านบาท สูงกว่าจัดเก็บจริงในปีงบประมาณ 2550 (ไม่รวมรายได้พิเศษจากการยุบเลิกทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน) ร้อยละ 6.1 การจัดเก็บรายได้รัฐบาลปี 2551 ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างไร
เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.0 โดยมีอัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.0 นอกจากนี้ สถานการณ์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายในปี 2550 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ก็น่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนกลับคืนมา ดังนั้น หากไม่มีปัจจัยนอกเหนือความคาดหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจเกิดความผันผวนอย่างรุนแรงแล้วก็คาดว่า ด้านการจัดหารายได้ของรัฐบาลคงเป็นไปตามประมาณการ
สำหรับฐานะเงินคงคลังของประเทศ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2550 มีจำนวนทั้งสิ้น 132,138 ล้านบาท สูงกว่าเวลาเดียวกันของปีก่อนประมาณ 2,803 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการด้านรายจ่าย ดังนั้น เมื่อพิจารณาว่าจะจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปี 2551 ได้ตามเป้าหมาย จึงกล่าวได้ว่า ฐานะเงินคงคลังของประเทศยังมีความมั่นคงอยู่มาก
สำนักนโยบายการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 0 2273 9020 ต่อ 3728 และ 3545

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ