ผ่าทางตันฟื้นวิกฤติระบบสุขภาพชายแดนใต้

ข่าวทั่วไป Thursday November 8, 2007 11:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--สวรส.
6 หน่วยงานสุขภาพและแหล่งทุนวิจัยจับมือผสานองค์ความรู้ด้านสุขภาพ (ระบบบริการสุขภาพ ระบบสุขภาพชุมชน การพัฒนาระบบ) พหุวัฒนธรรม
และการสร้างความเข้มแข็งชุมชน เสนอทางออก สร้างทางเลือกผ่าทางตันแก้ไขปัญหาวิกฤตระบบสุขภาพจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ วันนี้(7 พ.ย.50) ที่รร.มิราเคิลแกรนด์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับภาคีหน่วยงานสุขภาพและแหล่งทุนวิจัย จัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง “การจัดการความรู้เพื่อสันติสุขภาวะพื้นที่ภาคใต้” โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาเรื่อง “เรียนรู้จากกระบวนการจัดการความรู้ในสถานการณ์วิกฤต” ว่า ความจำเป็นที่ต้องจัดการความรู้ฯภาคใต้ ก็เนื่องมาจากมีองค์ความรู้มากมายและหลากหลายจากการลงไปทำงานด้วยรูปแบบต่าง ๆ ของหน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยอื่นแต่ยังไม่เกิดการบูรณาการการแก้ไขปัญหาภาคใต้ต้องการความรู้จริงมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
การจัดการความรู้จึงมีความสำคัญโดยเฉพาะการหาวิธีการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และใช้กลไกขับเคลื่อนให้เกิดผลด้วยกระบวนการวิจัยและการสังเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาและจัดบริการสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า รากเหง้าของปัญหาสลับซับซ้อนมากกว่าที่พูด ๆ กัน โดยเฉพาะการไม่ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมและความแตกต่างเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ภาคใต้ คำถามที่ท้าทายคือจะมีวิธีการเก็บข้อมูล เรียนรู้ และวิจัยสร้างความรู้อย่างไรเพื่อแก้ปัญหาการจัดการความรู้จึงมีบทบาทสำคัญที่จะไปเอาความรู้จากคนที่อยู่นอกวงอยู่ในชุมชนมาใช้เพื่อการแก้ปัญหา
ศ.นพ.สมศักดิ์ ให้ข้อเสนอให้มีการประสานพลังแหล่งทุนวิจัยในการสนับสนุนการสร้างความรู้ อาทิ งานวิจัยที่รับใช้การแก้ปัญหาในพื้นที่ งานวิจัยสร้างความเข้าใจของสังคม(ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม) งานวิจัยเชิงนโยบายการทำงานร่วมกันของฝ่ายต่าง ๆ ที่ต้องแก้ปัญหาในพื้นที่ เพื่อพัฒนานโยบายจากความรู้และผลงานวิจัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการทำงานในสถานการณ์พิเศษ การสื่อสารกับสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย
ทั้งนี้ในเวทีเสวนา เรื่อง “ทิศทางการวิจัยเพื่อสันติสุขภาวะพื้นที่ภาคใต้” ได้มีการนำเสนอประเด็นองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านสุขภาพในพื้นที่ 3 กลุ่มหลักได้แก่ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มพหุวัฒนธรรม และกลุ่มการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน โดยในกลุ่มสุขภาพ มีการนำเสนอผลงานวิจัยที่ระบุถึงระบบบริการสุขภาพ ระบบสุขภาพชุมชน และการพัฒนาระบบ Deep South Watch (DSW) และViolence-rellated Injury Surveillance โดยมีใจความสำคัญคือผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ส่งผลต่อการให้บริการสุขภาพของหน่วยงานบริการ/สถานบริการสุขภาพของรัฐประมาณ 30 แห่ง โดยเฉพาะความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการให้บริการและประชาชน อาทิในด้านบริการสุขภาพในระดับสถานีอนามัยนั้นลดลงอย่างชัดเจน ในระดับโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นแต่พฤติกรรมการมาใช้บริการเปลี่ยนไปมาใช้บริการกลางคืนลดลง ผู้ป่วยในลดลงผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากภาวะเครียดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ในแง่บริการการเยี่ยมบ้านลดลงชัดเจนซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนเนื่องจากบุคลากรมีความหวาดกลัวอย่างไรก็ตามท่ามกลางสถานการณ์ภาคใต้สถานบริการสุขภาพก็ต้องมีการปรับตัวทั้งความปลอดภัยและมาตรฐานการให้บริการประชาชนที่ดีพอจึงมีการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน แนวทางคือทำอย่างไรจะพัฒนาและรักษาบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ จึงควรมีการติดตามและศึกษาข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุขในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกันในกรณีระบบสุขภาพชุมชน พบว่าช่องทางในการสนับสนุนและเชื่อมโยงการทำงานสุขภาพกับชุมชนได้เช่นบทบาทผู้หญิงในการจัดการปัญหาวิกฤต และกรณีผดุงครรภ์โบราณที่เรียกว่าโต๊ะบิดันที่ให้บทบาทกับผู้หญิงโดยเรียกว่าโต๊ะบิแดเข้ามาร่วมการให้บริการในโรงพยาบาล เป็นต้น
เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายของเรื่องนี้คือการใช้ช่องทางการส่งเสริมสุขภาพโดยใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือสื่อกลางระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาล รวมทั้งการส่งเสริมภาวะผู้นำการเข้าใจกระบวนทัศน์อิสลาม การใช้ฐานชุมชนฐานมัสยิดในการจัดการสุชภาพชุมชน เช่น ยาเสพติด สิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและการสร้างมาตรฐานโรงพยาบาลมุสลิม (HA รับรอง)ซึ่งจะเป็นการจัดบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตมุสลิมขณะเดียวกันนับจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ก็มีกลุ่มทำงานหลายกลุ่มได้ติดตามและพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งในเชิงสถิติความรุนแรง และการเยียวยา ช่วยเหลือผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบ และต้องการให้มีการใช้ประโยชน์ทางวิชาการและใช้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องทางสื่อสารสาธารณะและทำเว็บไซต์ให้ประชาชนสามารถเข้ามาหาข้อมูลได้อย่างถูกต้องได้ด้วยตัวเอง อยากให้มีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง อีกด้านอยากให้ข้อมูลที่มีถูกนำไปใช้ในการสังเคราะห์มากขึ้น นำข้อมูลเหล่านี้มาสร้างความเห็นที่ถูกต้องของคนในสังคมในกลุ่มพหุวัฒนธรรม ผศ.ปิยะ กิจถาวร ให้ข้อเสนอว่าการสร้างความรู้ในกลุ่มพหุวัฒนธรรมโดยใช้งานวิจัยสืบค้น
เพื่อเข้าใจวิถีวัฒนธรรมของมุสลิม รวมทั้งชาวไทยพุทธด้วยโจทย์วิจัยที่น่าสนใจคือวิธีวัฒนธรรมที่มีการปฏิสัมพันธ์ร่วมกันของสองวัฒนธรรมต้องตระหนักว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มไปด้วยท้องที่พิเศษด้วยสภาพพื้นที่และประชาชน
พหุวัฒนธรรมคือสายสัมพันธ์ที่จะเชื่อมร้อยและฟื้นฟูความสัมพันธ์และสถานการณ์ขึ้นมาได้เป็นทุนและพลังที่เข้มแข็งของพื้นที่สำหรับกลุ่มการสร้างความเข้มแข้งชุมชน มีการเสนอ 3 ขั้นตอนคือการรู้จักซึ่งกันและกัน ความเข้าใจซึ่งกันและกันการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งการขับเคลื่อนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเกิดกระบวนทัศน์อิสลามเพื่อชุมชนเป็นสุข ชุมชนเป็นสุขคนมีสุขภาวะ โดยทำร่วมกับชุมชนทั้งด้านการศึกษาการสร้างหลักสูตรการศึกษาที่ชุมชนต้องการด้วยระบบซูลอ คือการปรึกษาหารือในชุมชน รวมทั้งการมีระบบสวัสดิการชุมชน อย่างไรก็ตามในการเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง“ทิศทางการสนับสนุนการจัดการความรู้เพื่อสร้างสันติสุขภาวะพื้นที่ภาคใต้
นั้น ซึ่งผู้แทนจาก 6 หน่วยงานแกนนำ ประกอบด้วย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนุนการวิจัย (สกว.)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดยทุกหน่วยงานยินดีโดยใช้ช่องทางเสริมต่อจากกิจกรรมที่แต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการอยู่หรือมีแผนที่จะดำเนินการ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
(วช.)มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับสนับสนุนทุนวิจัยในพื้นที่ภาคใต้ราว 40 ล้านบาท โดยจะเปิดรับข้อเสนอโครงการในปลายปีนี้ วช.มีทิศทางที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือของแหล่งเงินทุน ด้าน ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ.สกว.กล่าวว่า ให้ข้อสังเกตว่า ภาคใต้เป็นพื้นที่ปราบเซียนทางวิชาการ ใครที่คิดว่ารู้จริงหรือมีทฤษฎีว่าจะอธิบายได้ พอเข้าไปในพื้นที่จริงจะงงมาก เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นการปรับตัวในกลุ่มเล็ก ๆ หรือในพื้นที่ ๆ ที่มีอิสระที่จะตัดสินใจเพื่อการอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง
นี่เป็นประเด็นสำคัญเวลาที่โครงการวิจัยจะลงไปทำงาน อันดับแรกต้องเปิดกว้างเข้าไปรับฟังจากเขา เป็นการเรียนรู้ใหม่ของนักวิชาการ อย่างไรก็ตามการผสานการทำงานต้องการให้เกิดความรู้ 3 ส่วน คือ ความรู้จากพื้นที่ ความรู้เพื่อไปช่วยแนะนำนโยบายของรัฐบาลส่วนกลาง ความรู้ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ประวัติศาสตร์โลกมุสลิม ด้านนายแพทย์ พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า จากความร่วมมือกันในครั้งนี้ตนเชื่อว่าจะทำให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงบูรณาการและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนในพื้นที่ได้
โดยเน้นการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวว่าแต่ละหน่วยงานมีการดำเนินการอะไรไปแล้วและจะผสานกันได้ในส่วนใดบ้าง
เพื่อเติมในส่วนขาด ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องซับซ้อนและใช้เวลายาวนานในการแก้ปัญหาซึ่งต้องอาศัยความเข้มแข็งในการจัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยสนับสนุนให้เกิดการจัดการความรู้ในพื้นที่เพื่อนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจและการเรียนรู้เพื่อความสงบสุขและมีสุขภาวะของคนในพื้นที่.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ