การส่งออกภายใต้ CEPT ในครึ่งแรกของปี 2550 (ม.ค.-มิ.ย.)

ข่าวทั่วไป Monday October 29, 2007 17:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนเป็นตลาดการค้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย โดยในครึ่งแรกของปี 2550 มีมูลค่าการค้ารวมสูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ 28,288.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 20.24% จากมูลค่าการค้ารวมของไทยกับทั่วโลก
ในด้านดุลการค้า ไทยได้ดุลการค้ากับอาเซียนสูงเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ โดยในครึ่งปีแรกของปี 2550 ได้ดุลฯมูลค่า 3,066.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2549 ได้ดุลฯเพียง 526.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 481.96% จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในครึ่งแรกของปี 2549 ไทยขาดดุลการค้ากับทั่วโลกมูลค่า 2,617.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในช่วงเดียวกันของปี 2550 ไทยได้ดุลฯ 5,833.38 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับการขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(CEPT)เพื่อการส่งออกไปจากอาเซียนนั้น ในครึ่งแรกของปี 2550 ผู้ส่งออกของไทยมีการขอใช้สิทธิพิเศษ ในครึ่งแรกของปี 2550 มูลค่า 3,483.68 ล้านเหรียญสหรัฐสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 22.22% จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังอาเซียน เพิ่มขึ้น26.57% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 2558.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกโดยใช้สิทธิไปอินโดนีเซียสูงที่สุด มูลค่า 1,131.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (48.29% ของการส่งออกไปอินโดนีเซีย) รองลงมาคือ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีมูลค่าส่งออก 848.17 (21.44%), 822.22 (44.99%) และ552.05 (37.95%) ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่ไทยใช้สิทธิน้อย ได้แก่ สิงคโปร์ ลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งแม้ว่ามูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสิงคโปร์จะสูง แต่เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอัตราภาษีนำเข้าเป็น 0% จึงไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิในการส่งออก ส่วนการใช้สิทธิไปประเทศลาว พม่า และกัมพูชาน้อย เนื่องจากอัตราภาษีปกติกับอัตราภาษีที่ลดลงตามข้อตกลงของอาเซียนในปัจจุบันไม่แตกต่างกันมาก จึงไม่จูงใจให้ใช้สิทธิในการส่งออก
สินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกโดยใช้สิทธิพิเศษเป็นอันดับหนึ่งได้แก่ ยานยนต์ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ลบ.ซม. มีมูลค่าการใช้สิทธิ 234.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (6.72% ของการส่งออกทั้งหมด) รองลงมาได้แก่ ส่วนประกอบยานยนต์อื่นๆ (195.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 5.60%) และยานยนต์ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,500 ลบ.ซม. (139.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 4.01%) สินค้าเกษตรที่ส่งออกโดยใช้สิทธิสูงเป็นอันดับหนึ่งได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง มีมูลค่าการใช้สิทธิ 54.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.55%) รองลงมาได้แก่ อาหารปรุงแต่ง (48.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 1.39%) และข้าวโพด (41.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 1.09%)
ประเทศสมาชิกอาเซียนตระหนักดีถึงความจำเป็นในการเพิ่มการค้าระหว่างกัน ล่าสุดมีการปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และระเบียบปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า รวมทั้งปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าทั่วไป และกฎเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนให้มากขึ้น ขณะนี้ ส่วนที่ปรับปรุงและมีผลบังคับใช้แล้ว คือกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าเฉพาะสำหรับสินค้าจำนวน 1,463
รายการ (ดูรายละเอียดของรายการสินค้าและกฎฯใหม่ ได้ที่ http://www.aseansec.org/17281.htm) ในส่วนของ กฎทั่วไปใหม่ และกฎเฉพาะของสินค้าในรายการที่เหลือ รวมทั้งข้อบทของกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และระเบียบปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า คาดว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2551 นี้ รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ สำนักส่งเสริมและพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางการค้า โทร. 1385 หรือ 0-2547-4872 โทรสาร 0-2547-4816, www.dft.go.th, Email: tpdft@moc.net.moc.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ