กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำโครงการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในสถาบันเกษตรกรในพื้นที่นิคมสหกรณ์ 49 แห่ง ครอบคลุม 29 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการ ทำเกษตรอินทรีย์ให้กับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร และนำไปสู่การตรวจรับรองการผลิตมาตรฐานเพื่อยกระดับเป็น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งสร้างโอกาสทางการตลาดให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหกรณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตามแผนของโครงการมีระยะเวลาการดำเนินงานรวม 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2564 ตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการปีละประมาณ 1,000 คน สามารถสร้างรายได้จากการทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 5,000 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กำหนดรูปแบบการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นการฝึกอบรมการพัฒนาอาชีพด้านการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกร จากนั้นจึงเข้าสู่ระยะที่ 2 คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็นเกษตรอินทรีย์ ส่วนระยะสุดท้าย คือ เมื่อเกษตรกรเข้ามาทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบแล้ว จะต้องผลักดันให้เกษตรกรกลุ่มนี้ได้รับใบรับรองการผลิตมาตรฐานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การทำเกษตรอินทรีย์ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทุกแห่ง ได้ผ่านมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในสถาบันเกษตรกร ถือเป็นการดำเนินงานตามมาตรการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์อย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการผลผลิตจากการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น แต่กลับมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ซึ่งประกอบไปด้วย คนที่มีความตั้งใจที่จะทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังและต่อเนื่องมีน้อย พื้นที่การผลิตกระจุกตัวอยู่เป็นกลุ่มๆ และกระจายไปในหลาย ๆ จังหวัด รวมไปถึงไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ ขาดฐานข้อมูลการผลิตและการตลาด ตลอดจนเครือข่ายผู้ผลิตด้านเกษตรอินทรีย์ยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร
ดังนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงให้ความสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในสถาบันเกษตรกรโดยเฉพาะในพื้นที่นิคมสหกรณ์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์รับมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีแต่น้อยไม่เพียงพอต่อการทำกินในอดีต มาดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อทำให้เป็นพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย และพัฒนาสู่การผลิตแบบอินทรีย์ในที่สุด เพื่อสร้างพื้นที่การผลิตสินค้าปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค (Food Safety Zone) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย
ทั้งนี้ ในปีแรก กรมฯได้เข้าดำเนินการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่นิคมสหกรณ์ จำนวน 36 กลุ่มในพื้นที่ 23 จังหวัด พร้อมทั้งยึดเป้าหมายการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ตามรูปแบบของยโสธรโมเดลอีก 1 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอก นิคมสหกรณ์ และในปี 2561 จะดำเนินการขยายผลในกลุ่มเกษตรอินทรีย์เดิมให้เกิดความเข้มแข็ง และขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไปยัง กลุ่มใหม่ๆ ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ ให้ครบ ทั้ง 49 นิคมสหกรณ์ รวมทั้งสถาบันที่เข้าร่วม 50 แห่ง พื้นที่ 3,000 ไร่ ในเขตนิคมสหกรณ์ ทุกแห่งต่อไป
"การดำเนินงานในปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีแรกของการขับเคลื่อนโครงการพบว่า มีจำนวนเกษตรกรสนใจเข้ามาร่วมโครงการจำนวน 900 ราย กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้าไปอบรมสร้างความรู้ในด้านการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ส่วนใหญ่เกษตรกรให้ความสนใจเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัวมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งในปี 2561 นี้ ได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมเกษตรกรเข้ามาฝึกอบรมอีก 1,000 คน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้เกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมไปกลุ่มแรก ได้ก้าวสู่ขั้นตอนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืน ก่อนจะสนับสนุนให้เกษตรกรกลุ่มดังกล่าว ผ่านการตรวจสอบจนสามารถขอใบรับรองมาตรฐานด้านเกษตรอินทรีย์ในปี 2562 ต่อไป"