วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตเห็ดยานางิระบบปิดต้นทุนต่ำสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มศักยภาพการส่งออก ลดการใช้สารเคมี รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ข่าวเทคโนโลยี Thursday October 4, 2007 16:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาต้นแบบการผลิตเห็ดยานางิระบบปิดในรูปแบบเครือข่ายให้กับบริษัทเพชรบูรณ์อินโนเวชั่น จำกัด หวังสร้างความเชื่อมโยงแนวทางการพัฒนากระบวนการผลิตเห็ดเมืองหนาวตามมาตรฐานยุโรป เพิ่มศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์ ลดการใช้สารเคมี รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดยได้รับเกียรติจาก นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ พร้อมทั้งมี นายประเวช สุขพอดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมเป็นเกียรติในงานด้วย
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า จากความสำเร็จของ วว. โดยศูนย์ประสานงานเกษตรที่สูงกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ประสบผลสำเร็จในการพัฒนารูปแบบโรงเรือนเปิดดอกเห็ดระบบปิด ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้โดยใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาระบบการผลิตเห็ดของไทยสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมนั้น เพื่อให้ผลงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าวสู่การปฏิบัติจริงจึงได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาต้นแบบการผลิตเห็ดยานางิระบบปิด ในรูปแบบเครือข่ายให้กับบริษัทเพชรบูรณ์อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านการผลิตก้อนเชื้อเห็ดในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงของกระบวนการผลิตเห็ดตามแนวทางมาตรฐาน EurepGAP ของยุโรป (Euro-retailer Produce Working Group-Eurep, Good Agricultural Practice :GAP) ซึ่งเป็นมาตรฐานรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร (ครอบคลุมผลผลิตผักและผลไม้ อาหารสัตว์ ปศุสัตว์ และประมง) ตั้งแต่กระบวนการผลิตหัวเชื้อ ก้อนเชื้อ การเปิดดอกที่มีมาตรฐาน โดยมีเป้าหมายให้เกิดเครือข่ายผู้ผลิตที่มีมาตรฐานสามารถผลิตผลผลิตได้ไม่น้อยกว่า 500 กิโลกรัมต่อเดือน
“เทคโนโลยีที่ได้ถ่ายทอดดังกล่าว สามารถก่อให้เกิดพันธมิตรหรือเครือข่ายการผลิตเห็ดระบบปิดได้และเกิดระบบการผลิตที่มีมาตรฐาน อันจะเสริมสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเห็ดต้นแบบที่เข้มแข็งและยั่งยืน ทดแทนการนำเข้าเห็ดสดจากต่างประเทศหลายร้อยล้านบาท ร่วมทั้งจะก่อให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องเป็นมูลค่านับพันล้านบาท” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
เห็ดยานางิ (Yanagi-mutsutake) หรือเห็ดโคนญี่ปุ่น มีชื่อสากลว่า Agrocybe cylindracea เป็นเห็ดที่ขึ้นได้ดีและผลิตดอกเห็ดในอุณหภูมิปานกลาง (24-26 องศาเซลเซียส) มีรสชาติดีคล้ายเห็ดโคน ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมาก ทั้งในรูปของเห็ดสดและในอุตสาหกรรมเห็ดแปรรูป ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด นอกจากจะมีรสชาติที่อร่อยแล้วเห็ดยานางิยังมีคุณสมบัติในการต้านหรือป้องกันมะเร็ง ช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด
ดร.ชนะ พรหมทอง หัวหน้าศูนย์ประสานงานพัฒนาเกษตรที่สูง วว. กล่าวว่า การผลิตเห็ดยานางิในระบบปิด เป็นระบบที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและโรคแมลง จะทำให้เห็ดมีคุณภาพดีและให้ผลผลิตสูง ผลผลิตสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบการผลิตทั่วไป ที่จะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับคุณภาพและผลผลิตเห็ด จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีครั้งนี้จะใช้เป็นต้นแบบในการผลิตเห็ดยานางิของระบบเครือข่าย และจะกระจายไปสู่เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้มีรูปแบบและมาตรฐานการผลิตเดียวกัน โดยโรงเรือนระบบปิดต้นแบบภายใต้ความร่วมมือนี้ จะสามารถบรรจุก้อนเชื้อเห็ดประมาณ 10,000 ก้อน ซึ่งจะให้ผลผลิตประมาณ 300 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 42,000 บาทต่อเดือน (ปัจจุบันเห็ดยานางิจำหน่ายกิโลกรัมละ 140 บาท)
“ในอดีตการเพาะเห็ดในระบบปิดจะใช้เงินลงทุนสูง แต่การใช้ระบบปิดภายใต้โครงการนี้จะใช้ต้นทุนต่ำ และจะใช้เทคโนโลยีอิฐบล็อกประสาน วว. ที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวน เป็นวัสดุในการก่อสร้างโรงเรือน ซึ่งจะช่วยควบคุมอากาศภายในโรงเรือนให้ต่ำกว่าอุณหภูมิภายนอกประมาณ 5-7 องศาเซลเซียส จะทำให้สามารถผลิตเห็ดเขตหนาวบางชนิดที่ไม่ต้องการอุณหภูมิต่ำมากได้ เช่น เห็ดยานางิ เห็ดหอม เห็ดหัวลิง เป็นต้น ในภาวะปัจจุบัน การเพาะเห็ดระบบปิดจะสามารถควบคุมปัจจัยการผลิต ได้แก่ อุณหภูมิ แสง ความชื้น และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ได้ดีกว่าโรงเรือนระบบเปิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโรคแมลงและเกษตรกรที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์จะใช้สารเคมี ซึ่งจะเป็นอันตรายโดยตรงต่อผู้บริโภค ผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การเพาะเห็ดในระบบปิดจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะปัญหาโรคร้อนที่เรากำลังเผชิญ” ดร.ชนะกล่าว
นางสาวสุมาลัย ศรีกำไลทอง ที่ปรึกษาอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ วว. มีภารกิจหน้าที่ในการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมของภาคเหนือ 17 จังหวัด โดยการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการ ที่จะมีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคมของภาคเหนือโดยรวม
“อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือจะเข้าไปพัฒนา แก้ไขปัญหาพื้นฐาน พัฒนากระบวนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆแก่ผู้ประกอบการ นอกจากนี้จะให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ โดยร่วมมือกับเครือข่าย สถานศึกษาในภาคเหนือ ในการบ่มเพาะและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ SMEs และวิสาหกิจชุมชน” นางสาวสุมาลัยกล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม “เห็ดยานางิ” ได้ที่ ศูนย์ประสานงานพัฒนาเกษตรที่สูง วว. โทร. 0 2579 1121-30 ต่อ 4307, 4308 และ 1026 โทรสาร 0 2579 5244 ในวันเวลาราชการ www.tistr.or.th E-mail: tistr@tistr.or.th และติดต่อขอรับบริการ..อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ได้ที่ เลขที่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 Tel. 053-892-225-6 , 081-9153-846 www. northernsciencepark.com , www.nsp.or.th E-mail: wongharn@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ