กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--ไทยออยล์
ตลาดน้ำมันดิบถูกกดดัน จากความกังวลในอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 5 – 9 ก.พ. 61)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่อาจแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. นี้ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มีค.นี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากความร่วมมือของกลุ่มโอเปกที่ยังคงเดินหน้าในการปรับลดกำลังการผลิตราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำมันคงคลังกลับมาสู่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี รวมถึงกำลังการผลิตของเวเนซุเอลาที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี จากปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงิน
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.พ. นี้ หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับจุดคุ้มทุนเฉลี่ยในการลงทุนผลิตน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐฯ โดยแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สะท้อนได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่อาจปรับเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ รายสัปดาห์ ณ วันที่ 2 กพ. ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 6 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า สู่ระดับ 765 แท่น ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน สค. 60
- ความร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตยังอยู่ในระดับสูง โดยผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปริมาณน้ำมันคงคลังกลับมาสู่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี และรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ ล่าสุดข้อมูลจากรอยเตอร์ ระบุว่าอัตราความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิต (Compliance rate) ของกลุ่มโอเปกอยู่ที่ระดับ 138% ในเดือน มค.61 ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจาก 137 % ในเดือน ธค. 60 นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอิรักเปิดเผยว่า อิรักยังคงเดินหน้าปรับลดปริมาณผลิตตามที่ตกลงไว้ที่ 210,000 บาร์เรลต่อวัน แม้ว่าอิรักจะมีความพยายามในการเพิ่มกำลังการส่งออกมากขึ้นก็ตาม
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือน ม.ค. 61 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับลดลงสู่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากเวเนซุเอลากำลังเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ และการเงินจากภาวะหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ประเทศไม่สามารถหาเงินเพื่อมาจุนเจือและลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน
- ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ คาดว่าจะแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอืนๆ หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ Fed ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งในการประชุมในเดือน มีค. นี้ โดยเร็วๆ นี้กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า มีการจ้างงานในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นรวมถึงค่าจ้างมีอัตราสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตดี ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า Fed อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ โดยปกติราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวตรงข้ามกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในสกุลเงินสหรัฐฯ มีราคาสูง ซึ่งจะโน้มน้าวให้นักลงทุนหันไปลงทุนในตลาดอื่นแทน จึงส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบ
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) และจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) และยอดค้าปลีกของยูโรโซน และดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 ม.ค. – 2 ก.พ. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 1.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 สัปดาห์ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับลดลงหลังจากโรงกลั่นน้ำมันดิบอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปี รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบแตะระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่ยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลาที่ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี