กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 69.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 81.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 83.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Baker Hughes Inc. บริษัทลูกของ GE company รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน6 แท่น มาอยู่ที่ 765 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6.8ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 418.4 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์กว่า 5 เท่า และเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 สัปดาห์
- EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เดือน พ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 390,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำสถิติเหนือระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ทศวรรษ (ล่าสุดปริมาณการผลิตสัปดาห์สิ้นสุด 26 ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 410,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
- CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ม.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 18,365 สัญญา มาอยู่ที่ 531,235 สัญญา ลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า และลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เดือน ม.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 2.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ UAE มีเป้าหมายการผลิตน้ำมันดิบ อยู่ที่ 2.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามมาตรการควบคุมปริมาณการผลิตร่วมกับกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC
- บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Pemex ของเม็กซิโก รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในปี พ.ศ. 2561 ลดลงจากปีก่อน 9.6% มาอยู่ที่ 1.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณส่งออกลดลงจากปีก่อน 1.7% มาอยู่ที่ 1.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ปริมาณการผลิตของเม็กซิโกลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเคยอยู่ที่ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ความตึงเครียดทางการเมืองโลกเพิ่มขึ้นหลังกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม โดยเพิ่มรายชื่อ ชาวรัสเซีย 21 ราย และบริษัทพลังงาน 9 ราย ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Andrey Cherezov และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งเครื่องผลิตไฟฟ้าจากก๊าซของบริษัท Siemens ไปยังแคว้นไครเมีย
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดลดลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเนื่องจากปัจจัยด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flows ) หลังตัวเลขภาคการจ้างงานออกมาสดใส ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีทิศทางแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ก่อเกิดความกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไป เพราะตลาดใช้พันธบัตรดังกล่าวเป็นมาตรฐาน หรือ Benchmark สำหรับการปล่อยกู้ให้บริษัท (Corporate Lending) ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งดัชนี S&P 500 และ Dow Jones ลดลงรายวันคิดเป็นร้อยละ (Single-Day Percentage) มากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี ซึ่งภายหลังปัจจัยดังกล่าวย้อนกลับมากดดันเงินดอลลาร์เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางส่วนมองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว หลังร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีเมื่อปลายเดือน ม.ค. 61 ปัจจุบัน ตลาดจับตาการเจรจาพรรคร่วมรัฐบาลของเยอรมนี หลังพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีAngela Merkel ล้มเหลวในการเจรจากับพรรค Social Democrats (SPD) ให้ทันกำหนดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาซึ่งหากการเจรจาไม่ลุล่วงอาจส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโร ซึ่งจะกดดันราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้ Reuters ชี้ว่าหลังตลาดน้ำมันดิบเริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุล ความสัมพันธ์กลับทิศระหว่างราคาน้ำมันดิบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มกลับมาเด่นชัดขึ้นอีกครั้ง ดังเห็นได้จากสหสัมพันธ์ (Correlation) ปัจจุบันอยู่ที่ -0.86 ทั้งนี้ ความสัมพันธ์กลับทิศจะสมบูรณ์เมื่อCorrelation อยู่ที่ -1 ระยะนี้ จึงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์อย่างใกล้ชิดว่าจะมีทิศทางขาขึ้นอย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67.0-71.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 64.0-68.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.5-69.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก บริษัท JX Nippon Oil and Energy Corp. รายงานหน่วย Crude Distillation หรือ CDU หน่วยเดียวของโรงกลั่นSendai (กำลังการกลั่น 145,000 บาร์เรลต่อวัน) หยุดดำเนินการฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 61 หลังพบว่ามีน้ำมันรั่วไหลและยังไม่สามารถระบุระยะเวลาในการกลับมาดำเนินการได้ ขณะที่แรงซื้อน้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังแข็งแกร่งโดย บริษัทน้ำมันแห่งชาติของปากีสถาน Pakistan State Oil (PSO) ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92RON และ 97 RON ปริมาณรวม 3.65 ล้านบาร์เรล และ 50,000 บาร์เรล ตามลำดับ ส่งมอบช่วงเดือน เม.ย. 61และ บริษัท Ceypetco ของศรีลังกา ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON และ น้ำมันเบนซิน 95 RON ปริมาณ 130,000 บาร์เรล และ 65,000 บาร์เรล ตามลำดับ ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 20,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.80 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ม.ค. 61 ลดลง 1.98 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 242.06 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Xinhua ของจีน รายงานยอดขายรถยนต์ปี พ.ศ. 2560 ชะลอตัวลงจากปีก่อน 1.4% มาอยู่ที่ 24.7 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ (New-Energy Vehicles – NEVs รวมรถยนต์ Hybrid และรถยนต์ไฟฟ้า) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53% มาอยู่ที่ 780,000 คัน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 80.0-84.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมัน Taoyuan (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท CPC ในไต้หวัน เมื่อเช้าวันที่ 29 ม.ค. 61 ทำให้ต้องหยุดดำเนินการหน่วยผลิตน้ำมันดีเซล (กำลังการผลิต30,000 บาร์เรลต่อวัน) ประกอบกับ Japan Meteorological Agency (JMA) ของญี่ปุ่นออกประกาศเตือนว่าสัปดาห์นี้อุณหภูมิในญี่ปุ่นมีแนวโน้มหนาวจัด ขณะที่ บริษัท JXTG Nippon Oil & Energy Corp. มีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย CDU หน่วยเดียวของโรงกลั่น Marifu (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) ในญี่ปุ่นระหว่างเดือน ก.พ. – มี.ค. 61ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ม.ค. 61 ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 1.94 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 137.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซล ของจีน ในปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.8% อยู่ที่129.4 ล้านบาร์เรล คิดเป็น 97.2% ของโควตาส่งออก ที่ 133.1 ล้านบาร์เรล และ บริษัท Essar Oil ของอินเดีย ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.05%S ปริมาณ 525,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 24-28 ก.พ. 61 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 420,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.29 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 80.5-85.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล