กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ปี 2561กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเร่งดำเนินการในการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการของรัฐบาลในการเสริมสร้างและยกระดับฐานรากเรื่องของการท่องเที่ยวให้เข้มแข็ง และก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการกระจายรายได้จากเมืองหลัก สู่เมืองรอง และลดความเหลื่อมล้ำ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน อาทิ กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เป็นต้น ในการใช้เครื่องมือการท่องเที่ยวให้เกิดความครอบคลุมและทั่วถึง โดยเชื่อมโยงชุมชนให้มีส่วนร่วมในการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในด้านต่างๆ
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เพื่อให้มีความสอดคล้องในภาพรวมของนโยบายรัฐบาลในการกระจายรายได้สู่ชุมชนและลดความเหลื่อมล้ำ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เสนอมาตรการการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินได้กว่า 10,000 ล้านบาท ในเศรษฐกิจรากหญ้า และจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองรองจำนวนกว่า 10 ล้านคน ในปี 2561
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการยกระดับในแต่ละจังหวัด แต่ละชุมชนให้มีมาตรฐานสากล Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) จึงได้มีการคัดกรองชุมชนเป้าหมายใน 8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว จำนวน 168 ชุมชน แบ่งเป็น ชุมชนระดับ A ที่มีความพร้อมในการเชื่อมโยงและส่งเสริมการตลาด จำนวน 25 ชุมชน ชุมชนระดับ B ที่สามารถพัฒนาเพื่อเป็นชุมชนต้นแบบและพี่เลี้ยงของแต่ละจังหวัดได้ จำนวน 69 ชุมชน ชุมชนระดับ C ที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การยกระดับเป็นต้นแบบในปีต่อไป จำนวน 66 ชุมชน และอยู่ระหว่างการสำรวจอีก 8 ชุมชน โดยในจำนวน 168 ชุมชนเป้าหมายที่มีการคัดกรองแล้วประกอบด้วยชุมชนในภาคตะวันออกจำนวน 28 ชุมชน แบ่งเป็น ตราด จำนวน 12 ชุมชน จันทบุรี 3 ชุมชน ระยอง 3 ชุมชน และชลบุรี 10 ชุมชน มีการลงพื้นที่เมืองหลัก-เมืองรองอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการดำเนินการส่งเสริมที่มุ่งเน้นด้านอุปสงค์ (Demand Side) และด้านอุปทานของการท่องเที่ยว (Supply Side) เพื่อการท่องเที่ยวอย่างสมดุล
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยวยังได้ส่งเสริม "ปราชญ์ชาวบ้าน" เป็นบุคคลที่เรียกว่า "มัคคุเทศก์ท้องถิ่น" ให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับชุมชนในท้องถิ่น มีการดำเนินการจัดทำเกณฑ์การประเมินพื้นที่ เพื่อกำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นหรือชุมชนฯ โดยในปี 2560 มีพื้นที่ที่ผ่านการประเมินฯ จำนวน 4 พื้นที่ คือ
- ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด
- ชุมชนบ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
- ชุมชนบ้านรวมไทย ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- ชุมชนแหลมสัก ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะมีการผลักดันอย่างต่อเนื่องคือ โครงการเชฟชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบและยกระดับมาตรฐานอาหารไทยจากระดับชุมชน รวมทั้งสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
ทุกมาตรการทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบ Big Data ด้านการท่องเที่ยว ผ่านทาง www.thailandtourismdirectory.go.th ซึ่งเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวของไทยที่มีคุณภาพ ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และสามารถอ้างอิงได้