กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--ทูเดย์ คอมมูนิเคชั่นส์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มหาวิทยาลัยเปิดโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกล ที่ได้ชื่อว่ามีระบบการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ แต่ละปีผลิตบัณฑิตคุณภาพออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ด้วยคุณภาพมาตรฐาน และประสบการณ์นานกว่า 29 ปี ทำให้ชื่อของ มสธ. เป็นที่ยอมรับของสังคม และถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ในบรรดามหาวิทยาลัยทางไกลด้วยกัน
จากจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี มสธ.จึงไม่เคยหยุดนิ่ง มุ่งมั่นพัฒนาทั้งทางด้านวิชาการ คิดค้นหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของตลาด ควบคู่กับการพัฒนาระบบการเรียนการสอน โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ล่าสุดได้ทดลองทำการสอนเสริมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทอรนิกส์ (e-tutorial) หรือการสอนเสริมผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อสร้างความสะดวก ทันยุคสมัย และสร้างโอกาสเท่าเทียมทางการศึกษา
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวว่า มสธ. ให้ความสำคัญการพัฒนาในทุกๆ ด้าน เราไม่เคยหยุดนิ่ง สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและก่อให้เกิดผลประโยชน์กับมหาวิทยาลัย เราสนับสนุนเต็มที่ ระบบการสอนเสริมทางไกลเป็นนโยบายของ มสธ. อยู่แล้ว โดยส่งอาจารย์ไปสอนตามศูนย์บริการการศึกษาที่มหาวิทยาลัยกำหนด แต่ด้วยระยะทางระหว่างบ้านกับศูนย์ฯ ต้องใช้เวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางค่อนข้างสูง ทำให้จำนวนนักศึกษาที่เข้ารับการสอนเสริมลดน้อยลงเรื่อยๆ เราเลยเพิ่มช่องทางการสื่อสารโดยสอนเสริมทางไกลผ่านดาวเทียม ก็พบว่า นอกจากบางคนไม่มีจานรับสัญญาณดาวเทียมแล้ว ส่วนหนึ่งยังติดขัดเรื่องการเดินทางมารับชมที่ศูนย์ เราเลยพัฒนาช่องทางการสื่อสารให้ทันสมัยขึ้นอีกระดับ โดยจัดสอนเสริมบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือเว็บเคสติ้ง (Web casting) ซึ่งขณะนี้เปิดนำร่องไปแล้วบางวิชา
“การสอนเสริมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นโครงการที่ดี เพราะนอกจาก มสธ. ประหยัดงบประมาณได้ระดับหนึ่ง ทั้งอาจารย์และนักศึกษาไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ที่สำคัญนักศึกษาทุกคนมีโอกาส รับความรู้ที่เท่าเทียมกัน เพราะอาจารย์ที่สอนคนเดียวกัน มีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาต่างๆ ที่เราเชิญมาสอน และอาจารย์ของ มสธ. เอง และการสอนระบบนี้ไม่ว่านักศึกษาจะอยู่ที่ไหนเพียงมีคอมพิวเตอร์ที่มีระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตก็สามารถเรียนได้ ที่สำคัญระบบนี้ยังเกิดประโยชน์อย่างมากแก่นักศึกษาในต่างประเทศ เพราะพวกเขาไม่มีโอกาสได้รับการสอนเสริมในระบบปกติอยู่แล้ว” อธิการบดี กล่าว
ด้านดร.ธนิศ ภู่ศิริ ผอ.สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะกรรมการดำเนินการ และรับผิดชอบกระบวนการผลิตรายการสื่อการเรียนการสอน ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการสอนเสริมผ่านอินเตอร์เน็ต ว่า เราใช้ระบบ Web casting การสอนก็เหมือนสอนเสริมระบบปกติ แค่เปลี่ยนสถานที่จากเดิมที่ อาจารย์ต้องเดินทางไปตามศูนย์บริการการศึกษาต่างๆ มาสอนที่สตูดิโอของมหาวิทยาลัย ตามวัน เวลา ที่กำหนดในตารางสอนเสริม ซึ่งสามารถทำการสอนเสริมได้พร้อมกันถึง 4 วิชา แล้วส่งข้อมูลเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต นักศึกษาก็สามารถเข้ารับชมได้แบบสดๆ ในวิชาที่ลงทะเบียนเรียน
“ข้อดีของระบบนี้ เป็นสิ่งประกันคุณภาพมาตรฐานการศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน สามารถแสดงความคิดเห็น หรือโพสต์คำถามข้อสงสัยต่างๆ ระหว่างที่อาจารย์สอน ได้อย่างอิสระ บนกระดานถามตอบ คำถามเหล่านี้อาจารย์จะตอบหลังเสร็จสิ้นการสอน หรือภายใน 24 ชั่วโมง และที่สำคัญยังเอื้อประโยชน์สำหรับผู้ที่พลาดชมแบบสดๆ สามารถย้อนไปดูได้ที่ไอคอนสอนเสริม VDO On Demand ทำให้ทบทวนความรู้ได้ตามที่ต้องการ หรือสามารถดาวน์โหลดไฟล์ เอกสารประกอบการสอนเสริมในแต่ละชุดวิชาได้ล่วงหน้า” ดร.ธนิศ ย้ำถึงข้อดีของระบบการสอนเสริมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่ น.ส.สุภาพร เพ็งสกุล นักศึกษาปีที่ 3 สาขาวิชาวิทยาการจัดการ แขนงวิชาบริหารรัฐกิจ วิชาเอกรัฐประศาสนศาสตร์ หนึ่งในผู้ที่เข้ารับการสอนเสริมผ่านอินเตอร์เน็ต บอกว่า ที่เลือกเรียน มสธ.เพราะต้องทำงานควบคู่ไปด้วย จึงไม่ค่อยมีเวลาเรียนมากนัก ไปเรียนแต่ละครั้งก็ต้องเสียทั้งเวลา เสียทั้งงาน แต่พอรู้ว่ามีระบบนี้ก็ลองเข้าไปเรียนดู ก็พบว่าการสอนก็ ไม่ต่างจากที่ไปเรียนที่ศูนย์ เพียงแต่เราไม่ได้พบเพื่อน พบอาจารย์แบบเผชิญหน้า แต่เราก็สามารถพูดคุยผ่านเว็บบอร์ดได้ ข้อดีของระบบนี้ก็คือ ประหยัดเวลา ประหยัดเงิน เพราะเรียนฟรี ที่สำคัญสามารถทบทวนความรู้ได้หลายๆ รอบ จนเข้าใจ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้
อนาคตหากระบบการสื่อสารสามารถพัฒนาเครือข่ายให้ครอบคลุม วัด โรงเรียน อบต. อบจ.หรือหน่วยงานของรัฐตามท้องถิ่นต่างๆ เมื่อนั้นการรับชมการสอนเสริมทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับนักศึกษา มสธ. อีกต่อไป และที่สำคัญนอกจากจะได้รับประโยชน์ที่แท้จริงยังได้รับโอกาสและความรู้อย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย
อนึ่ง การสอนเสริมผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นการบริการการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีการถ่ายทอดวิชาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เปิดนำร่องไปแล้วเมื่อภาคเรียนที่ 1/2550 จำนวน 8 ชุดวิชาด้วยกัน คือ 1.หลักการโฆษณาประชาสัมพันธ์ 2.ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 3.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิต 4.คณิตศาสตร์สำหรับสังคมศาสตร์ 5.การบริหารงานอาชีวอนามัย และความปลอดภัย 6.กฎหมายวิธีสบัญญัติ1: หลักทั่วไปในวิธีพิจารณาความแพ่ง 7.เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ และ 8. อาหารบำบัดโรค ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบปลายภาค สำหรับภาคเรียนที่ 2 จะมีการขยายชุดวิชาออกไปอีก และจะขยายให้ได้ครอบคลุมเกือบทุกชุดวิชาในปีต่อๆ ไป
สำหรับนักศึกษาที่ไม่มีอุปกรณ์ หรือ คอมพิวเตอร์ในการรับชมการสอนเสริมผ่านอินเตอร์เน็ต สามารถสั่งซื้อในรูปแบบ VCD หรือ เข้ารับการสอนเสริมได้ ณ ศูนย์บริการการศึกษาที่มหาวิทยาลัยกำหนด หรือ ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ.ทั้ง 10 แห่ง ทั่วประเทศ รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่สำนักเทคโนโลยีการศึกษา โทร.02-504-7331 หรือสำนักบริการการศึกษา โทร.02-504-7612
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ บริษัท ทูเดย์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด : สุรีย์พร สื่อสกุล (ตุ้ย)
โทร : 081-902-5948 และ 085-838-5977 และเบญจรัตน์ สินสงวน (จอย) โทร : 089-448-9582
หรืองานประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช : นฤมล ปัทมพันธ์ (น้อง) โทร : 02-503-3641