กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--เอบีเอ็ม
แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีที่มีการระบาดในประเทศไทยกว่า 30 ปีนี้ให้หายขาด แต่ด้วยความพยายามและทุ่มเทของหลายภาคส่วน ทั้งการคิดค้นยานวัตกรรมที่เรียกว่ายาต้านไวรัสเอชไอวีและการดำเนินมาตรการรณรงค์และป้องกันต่างๆ ทำให้สถานการณ์การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความหวังมากยิ่งขึ้น และมีการตั้งเป้าว่า ด้วยความร่วมมืออย่างจริงจังจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่จากจำนวนกว่า 6,000 คนในปี 2560 เหลือเพียง 1,000 คนเท่านั้นในปี 2573
โดยล่าสุด ศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่างไทย-ออสเตรเลีย-เนเธอร์แลนด์ เพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ (HIV-NAT) ของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยโรคเอดส์ "Bangkok International Symposium on HIV Medicine ครั้งที่ 20" ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องในแวดวงโรคเอดส์ทั้งจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วม และได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลระบบ Live Streaming มาใช้ในการถ่ายทอดสดการประชุมให้คนทั่วโลกสามารถรับชมการประชุมได้แบบเรียลไทม์ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ผลงานวิจัย และประสบการณ์การต่อสู้กับปัญหาโรคเอดส์ในชุมชนหรือประเทศของตน เพื่อเป็นแนวทางการยุติปัญหาเอดส์อย่างจริงจัง พร้อมชูยาต้านไวรัสเอชไอวีและการไม่ตีตรารังเกียจจากสังคมเป็นปัจจัยสำคัญของการยุติปัญหาโรคเอดส์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า งาน 'Bangkok International Symposium on HIV Medicine ครั้งที่ 20' จัดขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือกับหลายๆ ภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในการขับเคลื่อนการยุติปัญหาโรคเอดส์อย่างยั่งยืน ซึ่งแนวทางที่จะยุติปัญหาโรคเอดส์อย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก คือ 1.ตรวจเร็ว 2.รักษาเร็วด้วยยาต้านไวรัสสำหรับผู้มีเชื้อทุกราย 3. ใช้ยา PEP สำหรับผู้ที่เพิ่งสัมผัสเชื้อเอชไอวีมาภายใน 72 ชั่วโมง หรือใช้ยา PrEP สำหรับผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีแต่มีความเสี่ยง ควบคู่การใช้ถุงยางอนามัยและใช้เข็มฉีดยาที่สะอาดในกลุ่มคนติดยาเสพติด และ 4.ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติจากสังคม
"เรารณรงค์ให้ผู้มีความเสี่ยงทุกคนกล้าที่จะมาตรวจเลือด ไม่ต้องอาย หรือกลัวถูกสังคมตีตราว่าเป็นคนไม่ดี เมื่อตรวจพบเชื้อ ต้องรีบรักษาด้วยการทานยาต้านไวรัสทันทีตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าติดเชื้อ โดยไม่ต้องรอให้มีอาการเนื่องจากภูมิต้านทานต่ำลงก่อนเหมือนอย่างในอดีต หลังได้รับการรักษา คนที่ป่วยก็จะมีอาการดีขึ้นและเมื่อกินยาเกิน 6 เดือนขึ้นไป กว่าร้อยละ 95 ของผู้ติดเชื้อจะมีปริมาณเชื้อลดลงและจะไม่สามารถแพร่เชื้อต่อให้คนอื่นได้ ถ้าทุกชุมชนทุกประเทศทำได้แบบนี้ ก็จะสามารถยุติปัญหาโรคเอดส์ได้อย่างแน่นอน ผมเชื่อว่า ภายใน 5 ปีนับจากนี้ ถ้าเราร่วมมือกันอย่างจริงจัง ปัญหาโรคเอดส์จะทุเลาลงมาก เราจะประหยัดงบประมาณและบุคลากรในการดูแลผู้ติดเชื้อ และผู้ได้รับประโยชน์ก็คือประชาชนนั่นเอง"
"ผมรู้สึกยินดีมากที่ในปีนี้เราได้นำ ระบบ Live Streaming มาใช้ในการถ่ายทอดสดการประชุม เพื่อเผยแพร่ความรู้และขยายผลของการจัดงานไปสู่ผู้คนในวงกว้าง โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท GSK ViiV ที่มีความมุ่งมั่นในการมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากจากบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก ที่สามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงการบรรยายต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังรับชมย้อนหลังที่เว็บไซต์ www.hivnat.org ได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องโรคเอดส์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น" ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญและน่ากังวลที่สุดเกี่ยวกับปัญหาโรคเอดส์คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงแต่ไม่รู้ว่าตัวเองเสี่ยง ดังนั้น นอกเหนือจากงานประชุมวิชาการ Bangkok International Symposium on HIV Medicine ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีแล้ว ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ยังได้เข้าไปสนับสนุนโครงการของประชากรหลักกลุ่มต่างๆ ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีสูง ได้แก่ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย กลุ่มพนักงานบริการ และกลุ่มสาวประเภทสอง เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ที่มีความเสี่ยง และช่วยให้เขาสามารถป้องกันตัวเองจากเชื้อเอชไอวีได้ โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ภายใต้แผนฉุกเฉินของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (PEPFAR) ผ่านโครงการ USAID LINKAGES โดยองค์กร FHI 360 ซึ่งเป็นโครงการนำร่องการจัดบริการด้านเอชไอวี
นายพิชญ์ สีแก้ว เจ้าหน้าที่โครงการ หน่วยพรีเวนชั่น ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า "บทบาทของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ฯ จะเป็นที่ปรึกษาและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่องค์กรในระดับชุมชน (Community based organization: CBO) และภาคส่วนต่างๆ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับชาติและระดับนานาชาติ ที่มีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวีในชุมชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ชุมชนพนักงานบริการ และชุมชนสาวประเภทสอง มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ มูลนิธิซิสเตอร์ เป็นต้น โดยศูนย์วิจัยโรคเอดส์ฯ ได้ร่วมมือกับภาคีภาครัฐ ในการพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนเหล่านี้ และเข้าไปประเมินผลการทำงานทุกๆ 3 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ให้ความรู้กับองค์กรชุมชนเหล่านี้จนสามารถปฏิบัติงานบางอย่างแทนบุคลากรทางการแพทย์ได้ เช่น การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวี การอ่านผลเลือด การจ่ายยาต้านไวรัสฯ แก่ผู้ติดเชื้อและผู้ที่มีความเสี่ยง จากนั้นตัวแทนชุมชนเหล่านี้ก็จะไปชักจูงเพื่อนและคนรู้จักที่มีความเสี่ยงให้เข้ามาตรวจหาเชื้อเอชไอวีและนำสู่ระบบการรักษาหากมีผลเลือดเป็นบวกหรือตรวจพบเชื้อ ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เราสามารถเข้าถึงผู้ที่มีความเสี่ยงคนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น ด้วยความไว้วางใจว่าตัวแทนชุมชนคือเพื่อนและเป็นที่พึ่งที่สามารถปรึกษาปัญหาต่างๆ ได้"
หากทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ด้วยความเข้าใจต่อปัญหา ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ และส่งเสริมแนวทางการป้องกันและรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประเทศไทยจะสามารถยุติปัญหาเอดส์ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน